แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์แล้ว จำเลยก็มีสิทธิที่จะเบิกเงินไปเป็นคราวๆ ภายในวงเงินและเวลาที่ตกลงกัน เมื่อจำเลยนำเงินเข้าบัญชีในธนาคาร ธนาคารก็นำไปหักจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญากู้ และจำเลยก็อาจถอนเงินไปอีก เพราะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังไม่หมดอายุ แต่ถ้าจำเลยประสงค์จะนำเงินเข้าบัญชีเป็นการชำระหนี้เงินกู้ จำเลยก็ต้องแสดงความจำนงนั้นให้ธนาคารทราบ และจะสั่งจ่ายเงินจำนวนนั้นไปอีกไม่ได้ ถือเป็นวิธีปฏิบัติในการฝากเงินเข้าบัญชีและการเบิกเงินเกินบัญชีตามปกติ ฉะนั้น หากจำเลยยังมีหนี้ค้างชำระในวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่อีก ผู้ค้ำประกันของจำเลยก็ต้องรับผิดในเงินจำนวนนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีและสั่งจ่ายภายหลังแต่วันครบกำหนดสัญญากู้นั้น หาถือว่าเป็นการชำระหนี้หรือเบิกเงินเกินบัญชีอันจะทำให้ผู้ค้ำประกันพ้นความผิด หรือรับผิดนอกเหนือไปอีกแต่ประการใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2500 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ 50,000 บาท จะชำระเงินเบิกเกินบัญชีพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้เสร็จภายในวันที่ 14 มีนาคม 2501 จำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้ค้ำประกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปแล้ว ไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ ครั้นครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้ง 3 ชำระ จำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ทำสัญญากู้เงินเกินบัญชีตามฟ้องจริงเมื่อครบกำหนดชำระจำเลยได้นำเงินฝากเพื่อใช้หนี้รายนี้ 12 ครั้งเป็นเงิน 57,120 บาท ยังขาดจากที่โจทก์ฟ้องเรียก 1,729 บาทเท่านั้นและที่ขาดอยู่นี้ก็เกินจากความเป็นจริงเพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยผิด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง หลังจากครบกำหนดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระให้โจทก์หลายครั้ง จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดในจำนวนเงินที่ชำระไปแล้ว เงินที่ยังค้างอีกเท่าใดจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด เพราะโจทก์ให้จำเลยที่ 2 เบิกเงินไปหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว เป็นข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ยอมรับรู้
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สิน ไม่เป็นการยากที่จะบังคับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยเบิกเงินไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2500 ซึ่งเป็นการเบิกเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินกู้ที่เบิกเกินบัญชีเลย เงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีภายหลังแต่เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว มิใช่เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่จำเลยนำฝากเพื่อกิจการค้าของจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้ที่เบิกเกินบัญชี 50,000 บาท กับดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2, 3 ร่วมชำระแทน
จำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1, 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันครบกำหนดชำระหนี้ (14 มีนาคม 2501) จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ 49,811.99 บาท เงินจำนวน 57,120 บาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีหลังจากครบกำหนดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้แสดงความจำนงว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้เลย เมื่อนำเข้าแล้วจำเลยที่ 1 ก็ถอนไปหมด จะอ้างว่าชำระหนี้ตามสัญญากู้ให้โจทก์เสร็จแล้วหาได้ไม่ แต่จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมในข้อตกลงพิเศษระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เรื่องการนำเงินเข้าบัญชีจะต้องบอกว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้ โจทก์จะยกข้อตกลงนี้ขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ย่อมอ้างได้โดยชอบตามความในวรรคหนึ่งว่าเงินจำนวน 57,120 บาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีนั้นหักกลบลบหนี้เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 รับผิด
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 14 มีนาคม 2501 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ 49,811.99 บาท หลังจากนี้จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีและถอนออกไปอีกเรื่อย ๆ
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่ว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่แสดงความจำนงว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี ถือว่าเป็นเงินฝากเพื่อประโยชน์แก่การค้าของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นวิธีปฏิบัติในการฝากเงินเข้าบัญชี และการเบิกเงินเกินบัญชีตามปกติไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทำความตกลงกันเป็นพิเศษอย่างใด เพราะการกู้เงินเกินบัญชีนั้น ผู้กู้อาจยังไม่รับเงินไปในวันทำสัญญากู้แต่มีสิทธิที่จะเบิกไปเป็นคราว ๆ ตามจำนวนภายในวงเงินที่ตกลงกันและตามเวลาที่ต้องการ เมื่อผู้กู้นำเงินเข้าบัญชีในธนาคาร ๆ ก็นำไปหักจำนวนเงินที่ผู้กู้เป็นหนี้ธนาคารตามสัญญากู้ เพื่อคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผู้กู้คงเป็นหนี้ธนาคารอยู่ ดอกเบี้ยทุก ๆ เดือนจึงไม่เท่ากันตลอดมา ถ้าผู้กู้นำเงินเข้าบัญชีเกินจำนวนที่เป็นหนี้ทางธนาคารก็งดคิดดอกเบี้ย แต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังไม่หมดอายุเพราะผู้กู้อาจถอนเงินไปอีก สัญญายังมีผลใช้กันต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา โดยเหตุนี้ ถ้าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เงินกู้ก็ต้องแสดงความจำนงให้ทราบ เมื่อนำเงินเข้าบัญชีชำระแล้วจะสั่งจ่ายอีกไม่ได้ในเงินจำนวนนั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมยกวิธีการที่ว่านี้เป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ เพราะเป็นการปฏิบัติตามปกติธรรมดาจำเลยที่ 2 จะอ้างว่ามิได้รู้เห็นด้วยหาได้ไม่ และกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว โจทก์ยังคงปฏิบัติกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับในอายุสัญญา โจทก์จะถือว่าการปฏิบัตินั้นมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 2 ด้วยหาได้ไม่ และจำเลยที่ 2 ก็อ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีต่อมาหลายคราว เป็นการใช้หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเสร็จสิ้นแล้วเช่นเดียวกัน เพราะจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินที่นำเข้าบัญชีนั้นออกไปอีกเรื่อย ๆ ยังไม่ได้มีการชำระหนี้กันเด็ดขาดอย่างใด จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดชอบสำหรับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระในวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน