คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1030/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงขอลดมาตราส่วนโทษโดยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้อง ปัญหานี้จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่นดังนั้นเมื่อ ว. ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับจำเลยถูกฟ้องในคดีอื่น และศาลพิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีประจักษ์พยานจึงไม่ผูกพันศาลว่าจะต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199,289(4)(6)(7), 340 วรรคท้าย, 340 ตรี, 32, 33, 83, 91ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 และริบมีดดาบปลายปืนกับอาวุธปืนของกลาง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 โดยให้ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 20 วัน คงพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199,289(4)(6)(7), 340 วรรคท้าย, 340 ตรี, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 289(4)(6)(7) กับความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิตเท่ากันทุกบท สมควรให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรีให้ประหารชีวิตฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้จำคุกคนละ 1 ปี ฐานลอบฝังศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุแห่งการตายให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) ให้จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 2 ปีให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 52 ปีริบมีดดาบปลายปืนและอาวุธปืนของกลางจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้อง และไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 50 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นตอนเกิดเหตุมาสืบ จะนำเอาพยานแวดล้อมและคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยไม่สมัครใจและคำรับสารภาพในชั้นพิจารณามาฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหาได้ไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงขอลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 โดยจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำผิดตามฟ้อง ปัญหานี้จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า นายวชิระหรือเต้น จำเลยที่ 3 ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีประจักษ์พยาน ควรยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยนั้น เห็นว่าในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่นฉะนั้นเมื่อนายวชิระหรือเต้นไม่ได้เป็นจำเลยในคดีเดียวกันกับจำเลยทั้งสองแล้วการที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนายวชิระหรือเต้นเพราะไม่มีประจักษ์พยาน จึงหาได้ผูกพันว่าศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ด้วยไม่”
พิพากษายืน

Share