แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องเปลี่ยนแปลงวิธีจ่าย “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” จากที่ให้บริษัทนำเที่ยวจ่ายให้พนักงานขับรถแทนตัวผู้ร้องมาเป็นผู้ร้องจ่ายให้พนักงานขับรถเองเป็นเพียงการเปลี่ยนจากตัวแทนคือบริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายมาเป็นผู้ร้องจ่ายเองเท่านั้น ไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อผู้คัดค้านรับเงิน “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” จากบริษัท จ. แทนผู้ร้องแล้วไม่นำส่งผู้ร้องแต่เก็บไว้เป็นของตน แม้ผู้ร้องออกประกาศเตือนให้พนักงานขับรถนำส่งเงินแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านก็ยังเพิกเฉยไม่นำส่ง จึงเป็นกรณีผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจทำงานร่วมกันได้ต่อไป และไม่ใช่กรณีผู้ร้องกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน จึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะกรรมการลูกจ้างได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 และพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น ตามมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่ากรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกระทำการตาม (1) ถึง (5) นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างในกรณีนี้ ดังนั้นผู้ร้องจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52, 123
ผู้คัดค้านคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมผู้คัดค้านรับค่าล่วงเวลาหรือเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท จากมัคคุเทศก์หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ต่อมาผู้คัดค้านกับพวกฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาย้อนหลัง 2 ปี ศาลพิพากษาให้เบี้ยเลี้ยง 300 บาท รวมอยู่ในค่าล่วงเวลาแล้ว ต่อมาผู้ร้องออกระเบียบให้พนักงานขับรถนำค่าล่วงเวลาหรือเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับจากมัคคุเทศก์มามอบให้ผู้ร้องแล้วผู้ร้องจ่ายให้พนักงานขับรถเองผู้คัดค้านคัดค้านว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้ไกล่เกลี่ย พนักงานเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์แนะนำให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องเพื่อไม่ให้มีการขัดคำสั่ง แล้ววินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องให้พนักงานขับรถซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านนำค่าล่วงเวลาหรือเบี้ยเลี้ยงมาให้ผู้ร้องคำนวณจัดสรรให้พนักงานขับรถตามรายงานการทำงานของพนักงานขับรถเป็นการบริหารจัดการของผู้ร้องโดยที่พนักงานขับรถและผู้คัดค้านไม่เสียสิทธิที่เคยได้รับ ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ผู้คัดค้านทราบประกาศของผู้ร้องที่ให้ส่งมอบค่าล่วงเวลาหรือเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ร้องก่อน การที่ผู้คัดค้านไม่ทำตามประกาศจึงเป็นการขัดคำสั่งของผู้ร้องตามระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งผู้ร้องได้ประกาศเตือนแล้วถึง 2 ครั้ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52, 123 พิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาจากการที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายให้พนักงานขับรถซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านด้วยผ่านทางมัคคุเทศก์เป็นผู้ร้องให้พนักงานขับรถเองเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือไม่ และผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ร.4 ซึ่งเป็นสัญญาจ้างขนส่งด้วยรถโดยสารปรับอากาศที่ผู้ร้องทำกับบริษัทจิ้นหม่าทัวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเที่ยวมีข้อความระบุว่า “สัญญานี้กำหนดให้ทางผู้ว่าจ้าง (บริษัทจิ้นหม่าทัวร์ จำกัด) เป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยงให้กับพนักงานขับรถแทนผู้รับจ้าง (ผู้ร้อง)” แสดงว่าในการที่ผู้ร้องให้บริษัทนำเที่ยวเช่ารถยนต์ ผู้ร้องให้พนักงานขับรถของผู้ร้องซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านด้วยไปทำหน้าที่ขับรถให้บริษัทนำเที่ยวผู้เช่า ซึ่งในระหว่างปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์ให้นำนักท่องเที่ยวตามสถานที่ที่กำหนด เท่ากับผู้ร้องมอบการบังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติงานของพนักงานขับรถให้บริษัทนำเที่ยว การทำงานล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์แต่บริษัทนำเที่ยวไม่ใช่นายจ้างของพนักงานขับรถ ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่าย “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” ให้พนักงานขับรถ ดังนั้น ผู้ร้องจึงทำสัญญาให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่าย “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” ให้พนักงานขับรถแทนผู้ร้อง เงิน “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายโดยส่งมอบให้พนักงานขับรถโดยตรงหรือพนักงานขับรถรับจากบริษัทนำเที่ยวเพื่อนำส่งให้ผู้ร้องจึงเป็นเงินของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่าย “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” จากที่ให้บริษัทนำเที่ยวจ่ายให้พนักงานขับรถแทนตัวผู้ร้องเป็นผู้ร้องจ่ายให้พนักงานขับรถเองจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนจากตัวแทนคือบริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายมาเป็นผู้ร้องจ่ายเองเท่านั้น ไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อผู้คัดค้านรับเงิน “ค่าล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยง” จากบริษัทจิ้นหม่าทัวร์ จำกัด แทนผู้ร้องแล้วไม่นำส่งผู้ร้องแต่เก็บไว้เป็นของตน แม้ผู้ร้องออกประกาศลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และประกาศลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เตือนให้พนักงานขับรถนำส่งเงินแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านก็ยังเพิกเฉยไม่นำส่ง จึงเป็นกรณีผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจทำงานร่วมกันได้ต่อไป และไม่ใช่กรณีผู้ร้องกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน จึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะกรรมการลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 และพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่ากรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกระทำการตาม (1) ถึง (5) นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างในกรณีนี้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะกรรมการลูกจ้างได้ คำขออื่นให้ยก.