คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานจับปืนที่ถูกผู้ร้ายลักไปได้จากจำเลยโจทก์ฟ้องและศาลลงโทษฐานมีอาวุธปืนไปแล้ว ภายหลังโจทก์มาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรได้ อ้างฎีกา 1520/

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๐ มีผู้ร้ายลักปืนของนายสุ่นไป ๑ กะบอก ต่อมาวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๒ เจ้าพนักงานจับปืนนี้ได้จากจำเลย โดยจำเลยมีปืนนี้ไว้ครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตโจทก์จึงฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๒ (ซึ่งเป็นวันจับปืนได้จากจำเลย) นั้นจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดเด็ดขาดไปแล้ว ครั้นต่อมาปรากฏว่าจำเลยรับปืนกะบอกนี้ไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขึ้นอีกโดยกล่าวหาว่าระหว่างวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๒ จำเลยได้รับปืนนี้ไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายได้-มาจากการกระทำผิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามกฎหมายที่โจทก์อ้างแต่ให้รอการลงอาญาจำเลยไว้
โจทก์อุทธรณ์ เรื่องรอการลงอาญา
จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับเรื่องมีปืนไม่ได้รับอนุญาตคดีก่อนศาลควรยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นการฟ้องซ้ำเพราะเป็นเรื่องต่างฐานความผิดและต่างประเด็นกับโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ ส่วนในเรื่องการรอการลงอาญานั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลยพินิจรอการลงอาญาแก่จำเลย จึงพิพากษายืน
แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งแย้งว่าความผิดฐานรับของโจรเป็นกรรมเดียวกับฐานฐานมีปืนไม่ได้รับอนุญาตในคดีเดิม ซึ่งศาลพิพากษาไปแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ต้องระงับไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔)
โจทก์ฎีกาว่าจะรอการลงอาญาจำเลยไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้ต่างกรรมต่างวาระกับการกระทำผิดที่จำเลยมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาตในคดีเดิมโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ ไม่ต้องด้วยบทตัดสิทธิฟ้องร้องตามวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) แต่ที่ให้รอการลงอาญาแก่จำเลยนั้นเห็นว่า จะรอการลงอาญาแก่จำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดแล้ว จึงพิพากษาแก้ศาลล่างทั้ง ๒ ให้ลงอาญาแก่จำเลยไปโดยไม่รอ

Share