แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายข้อ3ระบุว่าจำเลยผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อภายในวันที่15ตุลาคม2528ส่วนข้อ10ระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาแล้วถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และข้อ11ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องและในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายล่าช้านับแต่วันถึงกำหนดจนถึงวันส่งมอบรวม13วันโจทก์มีสิทธิ์เรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยทั้งสองได้รวมเป็นเงิน23,920บาทเมื่อหักเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายเป็นเงิน920,000บาทแล้วโจทก์จึงชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน896,080บาทแต่ต่อมาภายหลังโจทก์พบว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองส่งมอบชำรุดบกพร่องและไม่ถูกต้องตามสัญญาโจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาดังนี้ผลการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ย่อมไม่กระทบกระทั่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการส่งมอบของล่าช้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391วรรคท้ายการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาค่าปรับจากจำเลยทั้งสองนั้นย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าแก่จำเลยทั้งสองไปจำนวน920,000บาทเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาคู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยทั้งสองจึงต้องคืนราคาสินค้าเต็มจำนวนเป็นเงิน920,000บาทแก่โจทก์ สัญญาซื้อขายข้อ10วรรคสองระบุว่า”ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาด้วย”คดีนี้จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบสินคาแก่โจทก์แล้วต่อมาเมื่อโจทก์นำสินค้าไปใช้ปรากฎว่าสินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรและให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาเนื่องจากโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ10วรรคสองเท่านั้นเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเนื่องจากเหตุดังกล่าวแล้วจึงเป็นเรื่องโจทก์ไม่ได้รับสินค้าตามที่สัญญากำหนดไว้ถือว่าจำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้ามิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาแก่โจทก์และโจทก์ยอมรับไว้โดยจะใช้สิทธิปรับเป็นรายวันโจทก์จึงหามีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายเครื่องเจาะและอัดฉีดน้ำปูนประสานรอยร้าวให้แก่โจทก์ 1 ชุด ในราคา 920,000 บาทและได้ส่งมอบให้โจทก์พร้อมสำเนาใบตราส่ง เมื่อวันที่ 28ตุลาคม 2528 ต่อมาโจทก์ตรวจสอบทางด้านเทคนิคพบว่าชุดเครื่องเจาะเป็นของที่ทำปลอมขึ้นแล้วใช้ชื่อยี่ห้อและเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศตามที่ระบุไว้ในสัญญาติดไว้ สำเนาใบตราส่งเป็นเอกสารปลอม โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสอง ส่งมอบสิ่งของชุดใหม่ที่ถูกต้องตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยโจทก์เบิกสัญญา และได้จัดซื้อสิ่งของดังกล่าวจากบุคคลอื่นในราคา 1,175,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน920,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 11 ในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาซื้อขายนับแต่วันถัดจากวันที่จำเลยส่งมอบถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเป็นเงิน867,440 บาท และให้ชำระราคาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 255,000 บาทแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ นอกจากนี้โจทก์ได้ใช้สิทธิริบหลักประกันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบุคคโล มาทำสัญญาไว้เป็นเงิน46,000 บาทแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำสวน 2,201,064.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,032,440 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า เครื่องเจาะอัดฉีดน้ำปูนประสานรอยร้าวเป็นของแท้จากต่างประเทศที่ประกอบขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่มีการส่งมอบใบตราส่ง โจทก์ได้ตรวจสอบและทดลองเครื่องแล้วปรากฎว่าถูกต้องตามแบบและใช้งานได้ดี จึงรับมอบไว้และชำระราคาให้จำเลยที่ 1 การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไปตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1คืนเงินหรือชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวน 49,100 บาท แก่จำเลยที่ 1พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 46,000 บาทนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ถูกต้องแล้ว โดยมีคณะกรรมการของโจทก์เป็นผู้ตรวจรับเรียบร้อยการซื้อขายได้เสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์จึงไม่จำต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,151,080 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 896,080 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไป และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในต้นเงิน 255,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 พฤษภาคม2531) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานของจำเลยทั้งสองจึงเห็นได้ว่าไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์มีหนักดีกว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันตามสัญญาซื้อขายข้อ 11 จากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนเงิน 920,000 บาท เต็มจำนวนตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายข้อ 3 ระบุว่าจำเลยผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2528 ส่วนข้อ 10 วรรคแรก ระบุว่ามีครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และข้อ 11 วรรคแรก ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 (ที่ถูกน่าจะเป็นข้อ 10) ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนในวรรคสามกำหนดว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ คดีนี้ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายนับแต่วันถึงกำหนดจนถึงวันส่งมอบรวม 13 วัน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยทั้งสองได้รวมเป็นเงิน 23,920 บาท เมื่อหักเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายเป็นเงิน 920,000 บาทแล้วโจทก์จึงชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 896,080 บาทต่อมาภายหลังปรากฎว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองส่งมอบชำรุดบกพร่องและไม่ถูกต้องตามสัญญาโจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนี้เห็นว่า ผลการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ย่อมไม่กระทบกระทั่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการส่งมอบของล่าช้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคท้าย การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาค่าปรับจากจำเลยทั้งสองตามสัญญาข้อ 11 เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองส่งมอบของล่าช้าโดยหักออกจากราคาที่โจทก์จะชำระแก่จำเลยทั้งสองนั้นย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าวกรณีถือว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าแก่จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนราคาสินค้าเต็มจำนวนเป็นเงิน 920,000 บาท แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองคืนเงินราคาสินค้าให้แก่โจทก์เพียง896,080 บาท นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรายวันนับแต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญารวม 466 วัน เป็นเงิน 857,440 บาทนั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายข้อ 10 วรรคสอง ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่น ผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาด้วย” คดีนี้จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบสินค้าแก่โจทก์แล้วต่อมาเมื่อโจทก์นำสินค้าไปใช้งาน ปรากฎว่าสินค้านั้นไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยสัญญาซื้อขายข้อ 10 วรรคแรก โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควร และให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา เนื่องจากโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ 10 วรรคสองเท่านั้น เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเนื่องจากเหตุดังกล่าวแล้วจึงเป็นเรื่องโจทก์ไม่ได้รับสินค้าตามที่สัญญากำหนดไว้ ถือว่าจำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้ามิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาแก่โจทก์ และโจทก์ยอมรับไว้โดยจะใช้สิทธิปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 11 โจทก์จึงหามีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 11 อีกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ดังนั้น จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์โดยคืนเงินราคาสิ่งของเป็นจำนวน 920,000 บาท และชดใช้ราคาส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 255,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในแต่ละจำนวนแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน920,000 บาท นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 255,000 นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 9 พฤษภาคม 2531) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2