คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1012/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ”ในมาตรา 18(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 คำว่า”ออกประกาศ”หมายความว่าออกประกาศเป็นหนังสือ หาใช่ออกประกาศด้วยวาจาก็ได้ไม่ เพราะมาตรานี้มุ่งบังคับเอากับประชาชน ถ้าตีความว่าออกประกาศด้วยวาจาก็ใช้ได้ ก็ย่อมปราศจากหลักฐานและเป็นช่องทางให้โต้เถียงกันได้
สัตวแพทย์ประกาศเป็นหนังสือกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวและประกาศด้วยวาจาให้จำเลยและเจ้าของสัตว์แจ้งจำนวน โค กระบือ และให้นำโคกระบือมาให้ตรวจและฉีดยา จำเลยฝ่าฝืน ยังไม่เป็นความผิดเพราะสัตวแพทย์ประกาศด้วยวาจามิใช่เป็นหนังสือ

ย่อยาว

ได้ความว่า สัตวแพทย์ได้ประกาศเป็นหนังสือว่า ในตำบลศรีแก้วอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวแล้วสัตวแพทย์ได้ประกาศด้วยวาจาแก่จำเลยและเจ้าของสัตว์ ให้แจ้งจำนวนโค กระบือและให้นำโค กระบือมาให้ตรวจและฉีดยา จำเลยฝ่าฝืนและขัดคำสั่งสัตวแพทย์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 16, 18, 41 จำเลยรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้สัตวแพทย์จะได้ออกประกาศเป็นหนังสือกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตามสำเนาประกาศท้ายฟ้องแล้วก็ตาม ถ้าประสงค์จะให้แจ้งจำนวน หรือให้นำสัตว์มาฉีดยาก็จะต้องออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือเป็นพิเศษอีกฉบับหนึ่งเพื่อจำเลยทราบจะประกาศด้วยวาจาตามมาตรา 18(1) หาได้ไม่ พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน

คดีนี้โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2499 มาตรา 18(1) ให้อำนาจสัตวแพทย์พิจารณาออกประกาศด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าจะสั่งต้องสั่งเป็นหนังสือ จะสั่งด้วยวาจาไม่ได้จึงขอให้ลงโทษตามฟ้อง

ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ข้อความในมาตรา 18(1) ที่ว่า “ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะออกเป็นรูปประกาศหรือเป็นรูปคำสั่งก็ตาม จะต้องทำเป็นหนังสือทั้งนั้นที่ว่า “ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ” คือ ประสงค์ให้เป็นหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ว่า ประกาศไว้อย่างไรหรือสั่งไว้อย่างไร ถ้าตีความตามฎีกาของโจทก์ คือ ให้ออกประกาศด้วยวาจาได้ ย่อมปราศจากหลักฐานและเป็นช่องทางให้โต้เถียงกันได้ หาใช่ความประสงค์ของกฎหมายนี้ไม่ เพราะมาตรานี้มุ่งบังคับเอากับประชาชน ควรวินิจฉัยตีความให้เป็นยุติธรรมแก่ประชาชนและหลักการวินิจฉัยตีความตามกฎหมายในส่วนอาญา จำต้องระลึกถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลประกอบด้วย ถ้ายอมให้ประกาศบังคับเอากับประชาชนด้วยวาจา หากข้อความที่ประกาศด้วยวาจานั้นบิดเบือนหรือผิดเพี้ยนผันแปรไปประการใด ประชาชนอาจได้รับความเดือดร้อน ไม่ชอบด้วยการวินิจฉัยตีความตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในมาตราอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ก็ได้บัญญัติไว้ให้ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ เช่น มาตรา 10, 15 และ 16 เป็นต้น การพิจารณามาตราอื่น ๆ ประกอบด้วย ย่อมช่วยให้สามารถหยั่งรู้ถึงความประสงค์ของมาตรา 18 ดีขึ้นได้

Share