คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยตกลงกันได้และต่างแถลงร่วมกันว่าจำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์เกือบหมดแล้ว ส่วนที่เหลือจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ตกลงกันโดยจำเลยจะออกเช็คเงินสดให้โจทก์ไว้ โจทก์รับว่าเมื่อได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกให้แล้วโจทก์จะคืนเช็คอีก 2 ฉบับที่จำเลยที่ 3 ออกให้ไว้ล่วงหน้าแก่จำเลยและโจทก์จะถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว ทนายโจทก์เห็นควรให้ถอนฟ้อง แต่โจทก์ไม่ยอมถอนฟ้องดังนี้เมื่อคดีเป็นความผิดต่อส่วนตัว และใบแต่งทนายความปรากฏว่าทนายโจทก์มีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ได้ ทนายโจทก์ย่อมจะขอยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสองและมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์แล้ว จึงมีผลเป็นการยอมความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธในชั้นแรก แต่หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 แถลงขอ ถอนคำให้การเดิมและขอรับสารภาพผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1จำนวนเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์ ตามมาตรา 29 จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ครบแล้วจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน โทษจำคุกให้รอไว้ มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงกันได้ และทั้งสองฝ่ายต่างแถลงร่วมกันว่า จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์เกือบหมดแล้ว ยังเหลืออีก 52,000 บาท จำเลยจะนำเงินที่เหลือมาชำระให้โจทก์ในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ตกลงกันโดยจำเลยจะออกเช็คเงินสดให้โจทก์ 52,000 บาท โจทก์รับว่าเมื่อเช็คที่จำเลยออกให้ในวันนี้รับเงินได้แล้ว ก็จะคืนเช็คอีก 2 ฉบับที่จำเลยที่ 3 ออกให้ไว้ล่วงหน้าฉบับละ 26,000 บาท ให้จำเลยและโจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 1 ตุลาคม 2530 ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาทนายโจทก์แถลงว่า ได้รับเงินจากจำเลยครบถ้วนแล้ว ทนายโจทก์เห็นว่าควรจะถอนฟ้อง แต่โจทก์ไม่ยอมถอนฟ้องทนายโจทก์จึงขอถอนตัว ศาลชั้นต้นอนุญาตและได้อ่านคำพิพากษาไปในวันนั้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการยอมความกันแล้วและทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ระงับไป ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทนายโจทก์แถลงว่า เมื่อได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกให้ในวันนั้นแล้ว โจทก์จะคืนเช็คเดิม 2 ฉบับที่จำเลยที่ 3 ออกให้ไว้ล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจะถอนฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ซึ่งต่อมาทนายโจทก์ได้มายื่นคำร้องว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว ทนายโจทก์เห็นควรให้ถอนฟ้อง แต่โจทก์เปลี่ยนใจไม่ยอมถอนฟ้องเห็นว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวและตามใบแต่งทนายความปรากฏว่าทนายโจทก์มีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ได้ ทนายโจทก์ย่อมจะขอยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 วรรคสอง และมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อทนายโจทก์ได้แถลงต่อหน้าศาลตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาว่าจะถอนฟ้องไม่ดำเนินคดีนี้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ดังกล่าวข้างต้น และต่อมาทนายโจทก์ได้มายื่นคำร้องว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คนั้นแล้ว โจทก์มีหน้าที่ถอนฟ้องและมีผลเป็นการยอมความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share