คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10079/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายมีผลเพียงให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนซึ่งได้มานับแต่วันที่ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วเท่านั้น ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ทั้งจำเลยซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้นยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 79 เมื่อผู้ร้องอ้างในคำร้องว่าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยไม่มีอำนาจ เป็นการให้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยได้กระทำการดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้ร้องจักได้จัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม2540 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายวันที่ 4 มีนาคม 2541 ผู้ร้องทำการสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2541 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 150,000 บาท จึงมีหมายนัดโจทก์มาให้การสอบสวน โจทก์ได้รับหมายโดยชอบแล้วไม่มา ผู้ร้องพิจารณาคำให้การและเอกสารที่จำเลยนำส่งปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวจากจำเลย ผู้ร้องหมายเรียกให้โจทก์ชำระเงิน 150,000 บาท แก่ผู้ร้องเพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 อ้างว่าจำเลยอยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษา ขอเลื่อนการชำระเงินไปในวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 ผู้ร้องเห็นว่าเป็นคนละกรณีกันจึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงิน 150,000 บาท ภายใน 15 วัน โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 ว่าได้รับเงินจากจำเลยเพียง 80,000 บาท หนังสือฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2541 ที่ระบุว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลย 150,000 บาท นั้น จำเลยขอให้โจทก์ออกหนังสือเพื่อจำเลยจะนำไปอ้างต่อบุคคลภายนอก หากโจทก์ไม่ออกหนังสือจำเลยก็จะไม่ชำระหนี้ 80,000 บาท แก่โจทก์ ผู้ร้องหมายเรียกจำเลยมาสอบสวนเพิ่มเติม จำเลยให้การว่า คดีนี้มีเจ้าหนี้ 2 ราย คือโจทก์และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษา จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 80,000 บาท จริง เพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ แล้วจำเลยติดต่อขอชำระหนี้ภายนอกแก่สหกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้สหกรณ์ถอนคำขอรับชำระหนี้ แต่สหกรณ์ไม่ยอมรับชำระหนี้ภายนอก จึงไม่สามารถยกเลิกการล้มละลายให้แก่จำเลย ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของโจทก์และจำเลยมีข้อพิรุธเป็นลักษณะสมยอมกันเพื่อลดยอดเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์ เป็นการให้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ไม่สามารถหักล้างพยานเอกสารลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2541 ที่ระบุว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลย 150,000 บาท อันเป็นการชำระหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว และให้โจทก์ชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระครบถ้วนแก่ผู้ร้อง
โจทก์และจำเลยไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 24 ไม่ใช่การกระทำแทนจำเลย ผู้ร้องแจ้งว่าจำเลยได้รับการปลดจากล้มละลายตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 การปลดจากล้มละลายทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย มีผลให้ผู้ร้องพ้นอำนาจหน้าที่ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยอีกต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การปลดจากล้มละลายมีผลเพียงให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 หามีผลให้ผู้ร้องหมดอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด ผู้ร้องยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยต่อไปจนแล้วเสร็จ หรือจนศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 เมื่อปรากฏว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่มีอำนาจและเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ก่อนหรือขณะถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องจึงมีอำนาจติดตามรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อนำมาแบ่งให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ต่อไปนั้น เห็นว่า คำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายมีผลเพียงให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนซึ่งได้มานับแต่วันที่ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วเท่านั้น ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ทั้งจำเลยซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้นยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 79 เมื่อผู้ร้องอ้างในคำร้องว่าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยไม่มีอำนาจ เป็นการให้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยได้กระทำการดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้ร้องจักได้จัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้รวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share