แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ของลูกหนี้ซึ่งมีอยู่ก่อนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 27, 91 เมื่อเจ้าหนี้ไม่ได้ร้องขอรับชำระหนี้ตามวิธีการดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้เรียบร้อยและศาลสั่งปิดคดีแล้ว หากหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ใช่หนี้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 77 การประนอมหนี้นั้นก็ผูกมัดเจ้าหนี้ด้วยตามมาตรา 56 เจ้าหนี้จะมาฟ้องลูกหนี้ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นในภายหลังมิได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2509)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานของโจทก์ไป ขอให้จำเลยใช้เงินโจทก์
จำเลยให้การว่าเคยยืมเงินตามฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยถูกฟ้องล้มละลาย และศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว โจทก์ได้เจตนาสละสิทธิเรียกร้องหนี้สินรายนี้แล้ว โดยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิมาฟ้องจำเลยอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนี้รายนี้ต้องบังคับตามมาตรา ๒๗, ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ คือ โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์โดยมีบัญชี รายละเอียดแห่งหนี้สิน ฯลฯ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องขอรับชำระหนี้โดยปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้ไปเสร็จเรียบร้อย และศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามมาตรา ๕๖ หมายความว่า การประนอมหนี้ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดที่ได้ขอรับชำระหนี้และไม่ได้ขอรับชำระหนี้ด้วย เมื่อหนี้ของโจทก์ไม่ใช่หนี้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๗๗ การประนอมหนี้รายนี้จึงผูกมัดโจทก์ด้วย โจทก์จะมาฟ้องจำเลย(ลูกหนี้) ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นในภายหลังไม่ได้
พิพากษายืน