คำสั่งคำร้องที่ 307/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยได้ยื่นฎีกา และเห็นว่าข้อความที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า จำเลยยังไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเลยจึงไม่รอการลงโทษให้นั้น ควรเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดเพราะความจริงจำเลยได้วางเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้ต่อศาลเพื่อให้โจทก์ร่วมรับไปแล้ว กรณีจึงสมควรที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ การที่ศาลไม่รอการลงโทษ ทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจึงขอความกรุณาท่านอุดมมั่งมีดีซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต่อไปด้วย
หมายเหตุ ระหว่างพิจารณา พันโทหญิงพรรณีชยางคเสนผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291,390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(14),43(4),157,162 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก2 ปี ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยด้วย ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปีจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมต่างฎีกา (อันดับ 58,59 แผ่นที่ 3)
จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง(อันดับ 60 แผ่นที่ 2 และ แผ่นที่ 1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและไม่รับคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป (อันดับ 63,82) ศาลชั้นต้นจึงส่งคำร้องดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาสั่ง

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องต่อศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ และจำเลยได้อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ลดโทษให้แต่ไม่รอการลงโทษเช่นเดียวกัน เห็นได้ว่าทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นสมควรไม่รอการลงโทษจำเลยตรงกันทั้งสองศาล ในคำร้องและฎีกาของจำเลยที่ขอให้รับรองก็เพียงต้องการจะขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้จำเลย คดีจึงไม่มีข้อความที่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ยกคำร้อง

Share