แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลย ต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง และคำร้องขอรับรองฎีกาศาลสั่งยกคำร้อง จึงไม่รับฎีกา คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลย จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า การตีความในเรื่องการแสดงเจตนานั้น กฎหมายให้คำนึงถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และจำเลยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากโจทก์ตามสัญญาจ้างทำของ และในการกระทำแทนโจทก์ในฐานะตัวแทน หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ประกอบกับคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ต่อไป หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 113) ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 272,983 บาท พร้อม ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่ วันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จให้โจทก์สำหรับฟ้องแย้งจำเลย และคำขออื่นให้ยกเสีย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 83,740 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจาก ที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 103) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 107)
คำสั่ง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง นั้นคือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในการพิจารณาว่าจะรับฎีกาหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเป็น รายคดีในส่วนฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยต้องแยกจากกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าจ้างพร้อมด้วย ดอกเบี้ยเป็นเงิน 463,407 บาท จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ คืนเงิน 194,080.60 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 272,983 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ สำหรับฟ้องแย้งของ จำเลยให้ยกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 83,740 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาในคดีฟ้องโจทก์มีจำนวน 83,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2535 และทุนทรัพย์ ที่พิพาทในชั้นฎีกาในคดีฟ้องแย้งของจำเลยมีจำนวน 193,357 บาท ต่างมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ในข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1 ไม่ปรากฏว่า มีงวดใดงวดหนึ่งระบุถึงงานที่จำเลย กล่าวอ้างว่า ได้มีการตกลงหักออกประกอบกับโจทก์นำสืบปฏิเสธว่า ไม่ได้รับจ้างทำงานเกี่ยวกับส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้มีการหักออก และข้อความที่บันทึกเกี่ยวกับงานส่วนที่หักออก กับลายมือชื่อ ของโจทก์และจำเลยซึ่งจำเลยอ้างว่าได้ลงลายมือชื่อตกลงเกี่ยวกับ เรื่องการหักงานออกนั้น ไม่อยู่ในแนวทางที่จะตกลงกันจริง ค่างานที่จำเลยอ้างว่าตกลงหักออกจากเงินค่าจ้างที่ค้าง ก็ไม่ตรงกับค่างวดงานที่จะจ่ายต่อไป ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ได้มีการตกลงหักงานออกบางส่วนจึงไม่น่าเชื่อถือ ฟังไม่ได้ว่า มีการตกลงหักค่างานออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเอกสาร หมาย ล.1 คิดเป็นเงิน 266,260 บาท จำเลยฎีกาโต้เถียงว่ามีการบันทึกหักค่างานออกเป็นเงิน 266,260 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 โดยในการตีความแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริง ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกา โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหา ข้อเท็จจริง หาใช่เป็นเรื่องการตีความสัญญา และที่จำเลยฎีกา ต่อมาว่าการที่จำเลยช่วยซื้อวัสดุก่อสร้างให้โจทก์เป็นเงิน 205,080 บาท เป็นการทดรองในฐานะตัวแทนโจทก์โดยปริยาย ย่อมมีสิทธิเรียกเงินส่วนนี้คืนจากโจทก์โดยนำเงินจำนวนที่ จำเลยมีสิทธิหักค่างาน 266,260 บาท กับสิทธิเรียกเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุก่อสร้าง 205,080 บาท และเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทำงานไม่เสร็จ 50,000 บาท มารวมหักออกจากหนี้ที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับจากจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าพยานโจทก์เจือสมกับ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าได้จ่ายค่าวัสดุก่อสร้างแทนโจทก์ไปแล้ว 205,080 บาท แต่จำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่าได้มีการชำระเงิน ค่าจ้างส่วนที่บันทึกไว้ให้โจทก์ไปแล้ว และโจทก์มิได้ นำสืบหักล้างว่า เงินค่าจ้างที่ค้างชำระที่บันทึกไว้ไม่ถูกต้อง อย่างไร จึงต้องฟังว่าหลังจากมีการตกลงหักกลบลบหนี้แล้วจำเลยยังคงค้างชำระเงินค่าจ้างอยู่อีก 133,740 บาทฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ ย่อมเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง