คำสั่งคำร้องที่ 1628/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาประเด็นข้อ 1.แม้ผู้ฎีกาจะโต้แย้งเรื่องระยะเวลาเอาคืนซึ่งการครอบครองก็ตาม แต่ต้องวินิจฉัยถึงวันที่มีการรบกวนหรือแย่งการครอบครองเสียก่อน จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาข้อ 2 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขแล้ว ไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อ 1. เป็นเรื่องว่าด้วย อายุความฟ้องร้อง จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาในประเด็นข้อ 2. เป็นเรื่องว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการรับฟังพยานหลักฐานผิดประเด็น ไม่ใช่เป็นการที่จำเลย โต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลแต่ประการใด ฎีกาของจำเลย จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลย ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฎหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทตามแนวบริเวณกรอบสีแดงจำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ของแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.17ให้จำเลยและบริวารขนไม้และวัสดุก่อสร้างออกจากที่พิพาท
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 139)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 141)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า น่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมา ต่อจากนางนวลจันทร์ จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทแต่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท ตลอดมานางนวลจันทร์ได้ถูกจำเลยรบกวนและแย่งการครอบครองในที่พิพาทแล้ว จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 และที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยเพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ของโจทก์และจำเลยว่าฝ่ายไหนจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่ากัน เพราะคดีนี้เป็นการต่อสู้กันว่าใครครอบครองที่พิพาทดีกว่ากันนั้น ก็เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้นเช่นกัน ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง คำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ที่ไม่ยอมรับ ฎีกาต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 บาท ตามตาราง 2(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยเสียค่าธรรมเนียมมา200 บาท จึงเกินมา 160 บาท ให้คืนส่วนที่เกินแก่จำเลย

Share