คำวินิจฉัยที่ 97/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดโดยการตรวจค้น ควบคุมตัวบุตรของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทำการตรวจค้น ควบคุมตัวบุตรของผู้ฟ้องคดีโดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งมาตรา ๑๖ บัญญัติ ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา ๑๗ บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนี้จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมการพิจารณาความรับผิดและการเยียวยาตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๗/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปัตตานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้ง เขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ นางสาวแยนะ สะอะ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๒/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นมารดาของนายอับดุลอาซิ สาและ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหลายสิบคนเข้าปิดล้อมหมู่บ้านกำปงบือราแง หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี แล้วเรียกให้ผู้ฟ้องคดีและคนในบ้านซึ่งรวมถึงนายอับดุลอาซิลงมาจากบ้านและควบคุมตัวนายอับดุลอาซิแยกออกไปตรวจค้นบริเวณสวนยางพาราหลังบ้าน ผู้ฟ้องคดีได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดติดกัน ๒ ครั้ง ซึ่งต่อมาจึงทราบว่าบุตรชายของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่า ระหว่างการควบคุมตัวนายอับดุลอาซิไปเพื่อให้เป็นผู้นำตรวจค้นบ้านหลังอื่น นายอับดุลอาซิฉวยโอกาสหยิบฉวยอาวุธปืนสั้นจากที่ใดไม่ปรากฏชัดยิงใส่เจ้าหน้าที่ ๒ ครั้ง จนถูกยิงตอบโต้เสียชีวิต ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่าการเสียชีวิตของนายอับดุลอาซิเกิดจาการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นกรณีต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิตามระเบียบ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงให้ความช่วยเหลือผู้ฟ้องคดี ตามระเบียบ ฯ ข้อ ๗ (๑) เป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ในการปิดล้อมตรวจค้นจนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดี ถึงแก่ความตายทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ รวมเป็นเงิน ๓,๑๘๑,๙๕๔.๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๙๕๙,๙๕๘ นับแต่วันฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงนัดหมายประชุมวางแผนกันเพื่อจะก่อเหตุร้ายในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จึงได้ร่วมกันกับฝ่ายทหารปิดล้อมตรวจค้นกลุ่มเป้าหมาย ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ โดยขอความร่วมมือนายอับดุลอาซิผู้ตายเป็นผู้นำตรวจค้น แต่ผู้ตายกลับวิ่งหนีโดยถือปืนพกวิ่งออกมาจากกลุ่มเป้าหมาย จึงมีการใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กัน ภายหลังพบว่าผู้ตายเสียชีวิต การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด ผู้ฟ้องคดี เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าความเป็นจริง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ดำเนินการตามหลักกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การดำเนินคดีใด ๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา ของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แม้มาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ตามแต่การที่มีบทบัญญัติมาตรา ๑๗ เป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหากและไม่ได้บัญญัติถ้อยคำกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ว่าต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๖ ด้วย ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังคงเคารพและให้ความสำคัญต่อหลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลอยู่เสมอโดยจำกัดเฉพาะการฟ้องคดีโต้แย้ง ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำหรือการฟ้องคดีเพื่อห้ามมิให้กระทำการตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๖ ซึ่งหมายถึง ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้เท่านั้น กรณีย่อมไม่อาจแปลความไปถึงขนาดที่ว่าในกรณีที่การกระทำใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นและต้องมีการร้องขอการปกป้องคุ้มครองสิทธิจากศาลให้มีการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินซึ่งเป็นความรับผิดของรัฐนั้นบุคคลจะถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิโดยการถูกจำกัดหรือห้ามมิให้ฟ้องเป็นคดี ต่อศาลปกครอง โดยมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับความเสียหายเอาไว้ โดยให้รัฐเป็นผู้รับผิดและให้การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามกฎหมายหลักที่กำหนดในเรื่องนี้ไว้อันได้แก่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งหมายถึงว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอันเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในเรื่องความรับผิดของรัฐที่รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ในประการสำคัญหากข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีตามที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างตรงกันว่าเหตุพิพาทเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ กรณีก็เห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะยกเว้นการไม่ให้อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองแต่อย่างใดส่วนบทบัญญัติมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดมิให้บุคคลใดฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอันเนื่องมาจากการปฏิบัติและการดำเนินการตามกฎอัยการศึกนั้น เป็นเพียง บทบัญญัติที่คุ้มครองตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ให้ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวจากการปฏิบัติงานเท่านั้น หาได้เป็นบทบัญญัติที่ลิดรอนหรือตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ. ศ. ๒๕๓๙ แต่อย่างใดไม่
นอกจากนี้การใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ก็ดี หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็ดี คณะกรรมการยุทธศาตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ได้กำหนดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับใด สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตามระเบียบคณะกรรมการ ยุทธศาตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕ สามารถขอรับความช่วยเหลือจากรัฐตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอันเป็นระบบการพิจารณาและการดำเนินการในทางปกครองโดยตรง ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่า กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓ วรรคสอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เป็นข้อโต้แย้งที่แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงของเรื่องที่ปรากฏว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุในคดีนี้อยู่ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเขตท้องที่ที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วพื้นที่ในจังหวัดปัตตานีจึงมิได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามนัยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่มีอำนาจ ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ทั้งยังเป็นข้อโต้แย้งที่ขัดกับคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเองจึงไม่สมควรนำข้อโต้แย้งดังกล่าวมาเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยในการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปัตตานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งศาลพลเรือนซึ่งได้แก่ศาลยุติธรรมและศาลปกครองยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามปกติ แม้ข้อพิพาทในคดีนี้ มูลคดีเกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎอัยการศึกขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ บัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งมิให้ศาลปกครองมีอำนาจควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งและการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ. ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติที่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยที่อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมผู้ตายเป็นการใช้อำนาจลักษณะเดียวกันกับการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามฟ้องที่ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็มิใช่ขั้นตอนที่กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ. ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ อ้างว่ามูลความคดีเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหลายสิบคนเข้าปิดล้อมหมู่บ้านกำปงบือราแง หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และมีการควบคุมตัวบุตรผู้ฟ้องคดีแยกออกไปตรวจค้นบริเวณสวนยางพาราหลังบ้าน ผู้ฟ้องคดีได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อมาจึงทราบว่าบุตรชายของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงนัดหมายประชุมวางแผนกัน เพื่อจะก่อเหตุร้ายในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จึงได้ร่วมกันกับฝ่ายทหารปิดล้อมตรวจค้นกลุ่มเป้าหมาย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ขณะเกิดเหตุพิพาทในคดีนี้ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่ อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวแยนะ สะอะ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share