คำวินิจฉัยที่ 73/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่ากำนันและปลัดอำเภอ ได้บุกรุกเข้าไปขุดคูทำถนนในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ถมร่องดินและปรับสภาพที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิมพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๓/๒๕๕๙

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมหาสารคาม

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ นางด้วง ทบทำ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กำนันตำบลเขวาไร่ ที่ ๑ ปลัดอำเภอนาเชือก ที่ ๒ กรมการปกครอง ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๕/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๘๐๒ ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยเข้าครอบครองทำประโยชน์ปลูกมันสำปะหลัง เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมทีมงานได้บุกรุกเข้าไปขุดร่องคูทำถนนใช้แสดงเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ทั้งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ภายในแนวเขตดังกล่าว โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณประโยชน์และแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ชัดเจนเสียก่อน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าถมร่องดินและปรับสภาพที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้คืนสู่สภาพเดิมพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า การขุดแนวคันคูรอบที่สาธารณประโยชน์โคกฝายหินลาด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้กระทำเพื่อป้องกันการบุกรุกและอนุรักษ์ป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ การรังวัดตรวจสอบแนวเขตป่าโคกฝายหินลาดมีเจ้าของที่ดิน ผู้นำท้องที่และเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานร่วมกันฝังหลักหมุดเขตโดยร่วมกันเดินสำรวจหมุดเขตและบันทึกพิกัดแผนที่ GPS พบว่าหมุดยังคงอยู่ในจุดเดิม ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร่วมตรวจสอบแต่มิได้คัดค้านแต่อย่างใด ดังนั้นแนวคันคูเขตป่าดังกล่าวจึงมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการขุดคูเพื่อทำถนนใช้แสดงเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ และมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะที่ปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอนาเชือกซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ พิจารณาแล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และทำการขุดคูทำถนนในที่พิพาท จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ กระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๐๒ ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ขุดคูทำถนนรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการดูแลรักษาที่สาธารณะ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าดำเนินการถมร่องดินและปรับสภาพที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้คืนสู่สภาพเดิม และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าใช้เงินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดมหาสารคามพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกเข้าไปขุดคูเพื่อทำถนนใช้แสดงเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเองมีสิทธิครอบครองแต่การที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าดำเนินการถมคูดินและปรับสภาพที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้คืนสู่สภาพเดิมหรือให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดีตลอดจนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๐๒ ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ของผู้ฟ้องคดี โดยทำการขุดคูทำถนนเพื่อใช้แสดงเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์เป็นเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ พร้อมทั้งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าถมร่องดินและปรับให้คืนสู่สภาพเดิมพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า การขุดแนวคันคูรอบที่สาธารณประโยชน์โคกฝายหินลาดกระทำเพื่อป้องกันการบุกรุกและอนุรักษ์ป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ การรังวัดตรวจสอบที่ดินกระทำโดยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานร่วมกันเดินสำรวจฝังหลักหมุดเขตซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร่วมตรวจสอบแต่มิได้คัดค้าน จึงมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ บุกรุกเข้าไปขุดคูทำถนนในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๐๒ ของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ชดใช้ค่าเสียหายและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ กล่าวอ้าง กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางด้วง ทบทำ ผู้ฟ้องคดี กำนันตำบลเขวาไร่ ที่ ๑ ปลัดอำเภอนาเชือก ที่ ๒ กรมการปกครอง ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share