แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ G ระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมาจากบริษัท ส. ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า จำเลย เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยแปลงสภาพจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่ประกอบกิจการโทรศัพท์ แต่จำเลยจะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้กระทำการเกี่ยวกับการบริการสาธารณะหรือใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินบริการสาธารณะตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ นอกเหนือจากนี้แล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป บันทึกความเข้าใจฉบับพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ G ในระบบ Wideband Code-Division Multiple Access (WCDMA) จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและมีโครงข่ายเป็นของตนเองตกลงกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแต่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองเพื่อให้ความร่วมมือดำเนินโครงการทดลองการบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ G เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการให้บริการขายส่งและขายต่อบริการโทรคมนาคมเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ G ภายใต้เครื่องหมายการค้า และช่องทางการจัดจำหน่ายของโจทก์ จึงมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ และเมื่อพิจารณามาตรา ๒๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกอบกับประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมต้องยินยอมให้ผู้รับอนุญาตรายอื่นใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตน โดยได้กำหนดขั้นตอนการเจรจาและการทำสัญญาการบริการ ขายต่อบริการไว้ในข้อ ๙ – ๑๘ ของประกาศดังกล่าว เห็นได้ว่า สิทธิ หน้าที่ระหว่างโจทก์และจำเลยตามสัญญาอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเจรจาตกลงในทางพาณิชย์ หรือธุรกิจในการประกอบกิจการโทรคมนาคม อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน บันทึกความเข้าใจฉบับพิพาทจึงมิใช่สัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง หากแต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม