แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมทางหลวงชนบท จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครอง เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของจำเลย โดยขณะทำหน้าที่ปิดกั้นการจราจรบนสะพานกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ของจำเลยไขกุญแจและปลดโซ่ที่คล้องเหล็กกั้นช่องทางเดินรถออกจากแผงเหล็กที่ใช้ปิดกั้นทางเท้าของสะพานที่ได้คล้องติดกันไว้โดยที่ยังไม่ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการเปิด-ปิดสะพาน ให้ปิดการจราจรได้ และไม่ตรวจสอบดูให้ดีว่าสลักกลอนเหล็กของเหล็กกั้นช่องทางเดินรถซึ่งยึดข้อล็อคกับโครงเหล็กสะพานอยู่ในตำแหน่งที่ยึดแน่นหนาหรือไม่ อีกทั้งไม่อยู่ประจำจุดที่ตนมีหน้าที่ควบคุม เป็นเหตุให้เหล็กกั้นช่องทางเดินรถเคลื่อนออกมากีดขวางช่องทางเดินรถและกระแทกทะลุเข้าไปในตัวรถยนต์ของนาย พ. ซึ่งขับขี่รถยนต์ผ่านมาในขณะนั้น ได้รับอันตรายสาหัส แม้คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด แม้โจทก์ทั้งสองจะบรรยายฟ้องในลักษณะว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยไขกุญแจและปลดโซ่ที่คล้องเหล็กกั้นช่องทางเดินรถโดยที่ยังไม่ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการเปิด-ปิดสะพาน ให้ปิดการจราจรได้ และไม่ตรวจสอบดูให้ดีว่าสลักกลอนเหล็กของเหล็กกั้นช่องทางเดินรถซึ่งยึดข้อล็อคกับโครงเหล็กสะพานอยู่ในตำแหน่งที่ยึดแน่นหนาหรือไม่ อีกทั้งไม่อยู่ประจำจุดที่ตนมีหน้าที่ควบคุม ก็เป็นเพียงการบรรยาย ให้เห็นถึงลักษณะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำละเมิด แต่มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของฝ่ายปกครองไว้ เมื่อข้อพิพาทตามคำฟ้องเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันจะเข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม