คำวินิจฉัยที่ 34/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๔๕

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครปฐม
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครปฐมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องซึ่งศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
นายสมเกียรติ สุจจิตร์จุล ที่ ๑ และ นางชิด สุจจิตร์จุล ที่ ๒ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ นายประวิทย์ สีห์โสภณ ที่ ๔ นายศรีชัย กานต์เดชารักษ์ ที่ ๕ และนายสมบัติ พิมพ์ใจใส ที่ ๖ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครปฐม อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดเลขที่ ๔๙๐๙ ตำบลบางระกำน้อย (โคกพระเจดีย์) อำเภอเมือง (นครชัยศรี) จังหวัดนครปฐม (นครไชยศรี) เนื้อที่ระบุไว้ในโฉนดจำนวน ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๙๖ ตารางวา โดยในการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเจ้าพนักงานไม่ได้ทำการรังวัดทำแผนที่ที่มีระวางหลักหมุดยึดโยง แต่ทำเป็นแผนที่รูปลอย ทำให้จำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในโฉนดไม่แน่นอนเป็นเพียงการคาดคะเนประมาณการเท่านั้น ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาอำเภอนครชัยศรี ได้ทำการรังวัดพื้นดินบึงบางช้างที่ตื้นเขินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยนำหลักหมุดที่ดินแสดงอาณาเขตหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงปักล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง รวมเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ โจทก์ที่ ๑ ได้คัดค้านการกระทำดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๖ ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๙ แต่ได้รับการแจ้งยืนยันว่าที่ดินนั้นอยู่นอกโฉนดเลขที่ ๔๙๐๙ และโจทก์ไม่มีเอกสารสิทธิมาแสดง ให้โจทก์ดำเนินการทางศาลภายใน ๖๐ วัน โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครปฐมว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๙ ของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียสิทธิในที่ดินและไม่สามารถครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้อย่างปกติสุข ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งหกถอนหลักหมุดออกจากที่ดินของโจทก์และห้ามจำเลยทั้งหกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวตลอดไป
จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดีและยื่นคำร้องว่าเนื่องจากจำเลยทั้งหกเป็นส่วนราชการและเจ้าหน้าที่กระทำการตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นกรณีพิพาท เกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำการโดยมิชอบหรือใช้อำนาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑) และ (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลางที่จะพิจารณาพิพากษา
ศาลจังหวัดนครปฐมพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ช่างรังวัด ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สายงานบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ รังวัดที่ดินและนำหลักหมุดแสดงอาณาเขตหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงปักล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๙ ของโจทก์ทั้งสอง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งสอง จึงฟ้องคดีหลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มีผลบังคับใช้ จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ ๖ ที่นำหลักหมุดแสดงอาณาเขตหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบึงบางช้างปักรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่ามีประเด็นหรือข้อกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเรื่องใด อย่างใด ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นที่หลวงหรือเป็นที่ดินของโจทก์ ทั้งสองแต่เพียงประเด็นเดียว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คือ ศาลจังหวัดนครปฐม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญโดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายสมเกียรติ สุจจิตร์จุล ที่ ๑ และ นางชิด สุจจิตร์จุล ที่ ๒ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ นายประวิทย์ สีห์โสภณ ที่ ๔ นายศรีชัย กานต์เดชารักษ์ ที่ ๕ และนายสมบัติ พิมพ์ใจใส ที่ ๖ เป็นจำเลย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดนครปฐม

นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share