คำวินิจฉัยที่ 2/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๕

วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดระยอง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดระยองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓)ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ บริษัทปิยะ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระยอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๕๘๖/๒๕๕๒ โดยอ้างว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (กรมป่าไม้เดิม) อันเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชำระเงินจำนวน ๔,๑๖๐,๙๗๗.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันทำคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้คืนหลักประกันผลงานที่หักไว้เป็นเงินจำนวน ๔๗๒,๙๑๗.๙๐ บาท แก่ผู้ร้อง แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิกเฉย ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชชำระเงินจำนวน ๔,๗๕๘,๗๒๕.๑๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของเงินจำนวน ๔,๑๖๐,๙๗๗.๙๖ บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้คัดค้าน ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันคู่พิพาทและไม่อาจขอบังคับได้ เนื่องจากการชี้ขาดมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหลายประการ อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยกำหนดเปลี่ยนแปลงค่างานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ให้แตกต่างไปจากข้อตกลงในสัญญาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อสัญญา ถือเป็นการชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นเหตุให้คำชี้ขาดดังกล่าวถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา ๔๐ (๑) (ง) (๒) (ข) ประกอบมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางภายในกำหนดตามกฎหมาย ศาลปกครองกลางรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๖๖/๒๕๕๒ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องจากผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาว่าจ้าง ผู้ร้องให้ก่อสร้างโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เพื่อศึกษาธรรมชาติ โดยจัดทำบริการสาธารณะและจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นสัญญาทางปกครอง และเมื่อเริ่มดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว เกิดมีข้อพิพาทโต้แย้งเกี่ยวกับข้อกำหนดในสัญญาและมีการนำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการพิจารณาซึ่งต่อมาอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชดใช้เงินให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว คดีจึงมีมูลหนี้มาจากสัญญาทางปกครอง และผู้คัดค้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว ผู้ร้องก็ไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ผู้ร้องทำคำชี้แจงว่า คดีนี้มีเนื้อหาประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการว่าจ้างก่อสร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง การที่ผู้คัดค้านอ้างว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานถือเป็นการชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจ ในการวินิจฉัยหรือการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการและการโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๗ วรรคสอง มาตรา ๔๐ (๑) (ง) (๒) (ข) ศาลจังหวัดระยองเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๙ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ อีกทั้งหากเป็นกรณีที่ศาลที่มีเขตอำนาจทำการเพิกถอนหรือระงับใช้ซึ่งคำชี้ขาด ศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีที่ขอบังคับตามคำชี้ขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร และถ้าคู่พิพาทฝ่ายที่ขอบังคับตามคำชี้ขาดร้องขอ ศาลอาจสั่งให้คู่พิพาทฝ่ายที่จะถูกบังคับวางหลักประกันที่เหมาะสมก่อนก็ได้ ตามมาตรา ๔๓ (๖) ขอให้ยกคำร้องขอโอนคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
ศาลจังหวัดระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลนี้เพื่อบังคับตามคำชี้ขาด แล้วผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านอ้างเหตุว่า คำชี้ขาดอยู่ระหว่างการพิจารณาขอให้ศาลปกครองเพิกถอนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๗ วรรคสอง มาตรา ๔๐ (๑) (ง) (๒) (ข) ประกอบมาตรา ๓๗ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องผิดเขตอำนาจศาลหรือคำร้องถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด ผู้คัดค้านอ้างแต่เพียงว่าคำชี้ขาดอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนของศาลปกครองเท่านั้น เมื่อคำร้องนี้มิใช่การร้องผิดเขตอำนาจศาลหรือต้องถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องตามภูมิลำเนาที่ตนมีและตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับก่อนยื่นคำร้องและขณะยื่นคำร้องหรือขณะนี้ศาลปกครองยังมิได้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด คำร้องนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดระยองที่มีเขตอำนาจ ซึ่งย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดที่กล่าวมา ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มูลเหตุแห่งข้อพิพาทตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคือสัญญาก่อสร้างโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ระหว่างผู้ร้องกับกรมป่าไม้ ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้รับโอนสิทธิ หน้าที่และภาระผูกพันตามสัญญาดังกล่าวมาจากกรมป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ ประกอบพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๖๗ เมื่อสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือผู้คัดค้านซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และวัตถุแห่งสัญญานี้คือการก่อสร้างสิ่งสร้างทั่วไปโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้คัดค้านที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนั้นการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันเกิดจากข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๙ และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปได้ว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ระหว่างผู้ร้อง ผู้รับจ้าง กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (กรมป่าไม้เดิม) ผู้ว่าจ้าง ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชำระเงินจำนวน ๔,๑๖๐,๙๗๗.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันทำคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้คืนหลักประกันผลงานที่หักไว้เป็นเงินจำนวน ๔๗๒,๙๑๗.๙๐ บาท แก่ผู้ร้อง แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิกเฉย ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชชำระเงินจำนวน ๔,๗๕๘,๗๒๕.๑๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของเงินจำนวน ๔,๑๖๐,๙๗๗.๙๖ บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านสรุปได้ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันคู่พิพาทและไม่อาจขอบังคับได้ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยกำหนดเปลี่ยนแปลงค่างานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ให้แตกต่างไปจากข้อตกลงในสัญญาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อสัญญา ถือเป็นการชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นเหตุให้คำชี้ขาดดังกล่าวถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา ๔๐ (๑) (ง) (๒) (ข) ประกอบมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้คัดค้านจึงยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองกลางภายในกำหนดตามกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว ขอให้ยกคำร้อง เห็นว่า กรณีเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง คดีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ เมื่อผู้คัดค้านรับโอนสิทธิ หน้าที่และภาระผูกพันตามสัญญาดังกล่าวมาจากกรมป่าไม้ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ ประกอบพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๖๗ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำสัญญาว่าจ้างผู้ร้องให้ก่อสร้างสิ่งสร้างทั่วไปโครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันเกิดจากข้อพิพาทตามสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๙ และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทปิยะ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ร้อง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share