คำวินิจฉัยที่ 117/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกระทรวงการคลังกับพวกอ้างว่า หน่วยงานทางปกครองขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินบริเวณที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ ขอให้คืนสิทธิในที่ดินหรือชดเชยราคาทรัพย์ กับให้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๗/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเลย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ นางรัตนาภรณ์ รักษาชาติ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เลย ที่ ๒ จังหวัดเลย ที่ ๓ เทศบาลตำบลเชียงคาน ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุดรธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๓/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ตามหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๓๗๔ ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยรับมรดกและครอบครองสืบต่อจากบิดา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ โดยมีขอบเขตและที่ตั้งทับที่ดินบริเวณที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้อยู่อาศัยและทำกินบนที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นเวลานาน ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและกระทรวงมหาดไทยมีประกาศหวงห้ามไว้เป็นสนามบิน อันเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องคืนสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทหรือชดเชยราคาทรัพย์ กับให้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
อนึ่ง ศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ ซึ่งเข้าใช้ประโยชน์มาตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๗๒ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ บิดาของผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งตกเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ผู้ฟ้องคดีจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ กับจะโอนให้แก่กันไม่ได้และจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินมิได้ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ ลย. ๘๑๓ ทั้งมิได้ขอใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวและมิได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นกรณี ที่หน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลในการที่จะเข้าครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้นั้น การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุจึงเข้าลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองในการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุที่พิพาทหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือชดเชยราคาที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่โต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีเพื่อปฏิเสธการคืนหรือจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินพิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นสำคัญ โดยพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของคู่ความ ซึ่งต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องรับผิดชอบเยียวยาต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค. ๑ โดยรับมรดกและครอบครองสืบต่อจากบิดา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ ทับที่ดินบริเวณที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้อยู่อาศัยและทำกินบนที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นเวลานานก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและกระทรวงมหาดไทยมีประกาศหวงห้ามไว้เป็นสนามบิน อันเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องคืนสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทหรือชดเชยราคาทรัพย์ กับให้มีคำสั่ง คุ้มครองสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ลย. ๘๑๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งตกเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ ลย. ๘๑๓ ทั้งมิได้ขอใช้และเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางรัตนาภรณ์ รักษาชาติ ผู้ฟ้องคดี กระทรวงการคลัง ที่ ๑ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เลย ที่ ๒ จังหวัดเลย ที่ ๓ เทศบาลตำบลเชียงคาน ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share