คำวินิจฉัยที่ 107/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่วัดผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องอ้างว่า ครอบครองที่ดินจนเป็นที่ธรณีสงฆ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทางปกครองผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มิใช่ที่ธรณีสงฆ์ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป ดังนั้นเป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๗/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุรินทร์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ วัดเพชรบุรี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอปราสาท ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ ๓ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๕/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๓๐๖/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ปี ๒๓๔๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี ๒๓๗๑ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลสมุด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินป่าช้าบ้านทุ่งมน ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๑ กิโลเมตร ใช้ประโยชน์เป็นป่าช้าสำหรับเผาศพ ฝังศพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่เป็นวัดป่าช้าบ้านทุ่งมน ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินต่อเนื่องเรื่อยมา ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นที่ธรณีสงฆ์และอยู่ในความดูแลของผู้ฟ้องคดี เมื่อประมาณปี ๒๕๑๙ พระครูประสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงส์ พรหมปัญโญ) อดีตเจ้าอาวาสผู้ฟ้องคดีและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมบริจากเงินเพื่อก่อสร้างที่พำนักสงฆ์อาคารสถานที่ในบริเวณที่ดินป่าช้าดังกล่าว โดยมีเจตนาใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานและใช้ประกอบกิจพิธีบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับศาสนาพุทธของผู้ฟ้องคดี และเลิกใช้เผาศพฝังศพ เนื่องจากได้สร้างเมรุเผาศพที่บริเวณที่ตั้งของผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกหนังสือที่ สร ๐๓๒๐/๕๓๘๑ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๕ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในที่ดินป่าช้าบ้านทุ่งมน พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาปราสาท ได้รังวัดเพื่อออก น.ส.ล. และได้ประกาศออก น.ส.ล. เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๐ ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๑๔๖๖ ซึ่งการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปิดประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในบริเวณที่ดิน การรังวัดสอบเขตและการสอบสวนไม่มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ไม่มีการจัดประชุมคณะสงฆ์ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบและไม่มีโอกาสเข้ามาในกระบวนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ สร ๐๑๔๖๖
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินป่าช้าวัดบ้านทุ่งมนเป็นป่าช้าสาธารณประโยชน์และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มิใช่ที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ดำเนินการรังวัดที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเพื่อจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงเป็นการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แม้จะมีประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่การพิจารณามิใช่เกณฑ์ว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดอีกทั้งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลปกครองนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้ประโยชน์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนและครอบครองต่อเนื่องเรื่อยมาจนเป็นที่ธรณีสงฆ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ลงนามปฏิบัติราชการแทนในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๑๔๖๖ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินป่าช้าบ้านทุ่งมนเป็นที่สาธารณประโยชน์และเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มิใช่ที่ธรณีสงฆ์ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป ดังนั้น เป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างวัดเพชรบุรี ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอปราสาท ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ ๓ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share