คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 22/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๒/๒๕๕๒

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นายวิชัย ปลั่งศรีสกุล ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๗ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.ต. ๒๕/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบลกุยบุรีประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรี โดยให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัตินายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๘ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่ผู้ร้องดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีมาแล้วติดต่อกันเกินสองวาระ อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๔๘สัตต แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ ต่อมาผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบลกุยบุรีประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกุยบุรี แต่ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัตินายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีและประกาศผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบลกุยบุรีดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีของผู้ร้อง ระหว่างวันที่ ๗ มีนาคม ถึงวันที่ ๒๗สิงหาคม ๒๕๔๗ ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีหนึ่งวาระ เมื่อผู้ร้องได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗และปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมาจนครบวาระ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีติดต่อกันสองวาระ อันเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕มาตรา ๔๕ (๑๗) ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔๘ สัตต และไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๙๘ วรรคสาม ให้ยกคำร้อง โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกับการตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสำนักงานเทศบาลกุยบุรีเคยมีหนังสือหารือในประเด็นดังกล่าว ผู้ร้องเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการที่ผู้ร้องได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม๒๕๔๗ เป็นการดำรงตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ร้องในการเลือกตั้งครั้งแรก ถือว่าผู้ร้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงหนึ่งวาระ ตามมาตรา ๙๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มิใช่ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกัน และมิได้พ้นการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรี ตามมาตรา ๔๕ (๑๗) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบมาตรา ๔๘ สัตต แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีใหม่เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีคำสั่งไม่รับสมัครผู้ร้องรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรี และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามมาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยผู้ร้องไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๔๘ สัตต วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ถือว่าผู้ร้องมิได้พ้นการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรี ตามมาตรา ๔๘ ปัญจทศ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลพุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ผู้ร้องมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลกุยบุรีในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ มีคำสั่งไม่รับคำร้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเนื่องจากขณะนั้นพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ยังมิได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องใช้สิทธิต่อศาลอุทธรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙วรรคสามกำหนด ดังนั้นเมื่อผู้ร้องต้องใช้สิทธิภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย และขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิจารณาวินิจฉัยคดีของผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดี (คดีหมายเลขแดงที่ ๓๓๕๘/๒๕๕๑)
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นายวิชัย ปลั่งศรีสกุล ผู้ฟ้องคดี จึงยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๑๓/๒๕๕๑
อนึ่ง ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๗ และก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๕๖/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ฟ.๔๘/๒๕๕๑ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ วรรคสาม บัญญัติให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และมูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อนึ่ง แม้ศาลยุติธรรมโดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ จะมิได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่คือ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ประกอบกับมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ดังนั้นเมื่อศาลยุติธรรมโดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ มีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้อง (ผู้ฟ้องคดี) ก็เท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ใอำนาจของศาลปกครองโดยปริยาย

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว หากศาลดังกล่าวเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่นในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว … ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและมาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาโดยอนุโลม
ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ในคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๗ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกัน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ยังมิได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องใช้สิทธิต่อศาลอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙วรรคสาม กำหนด ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ มีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวจึงมิใช่กรณีมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง อันจะเข้าหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๒ วรรคสอง ได้ ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีนี้ กรณีจึงถือได้ว่าศาลปกครองกลางเป็นศาลแรกที่มีการยื่นฟ้อง หากศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางชอบที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสามหรือมาตรา ๑๒ วรรคสอง ดังนั้น การเสนอเรื่องให้คณะกรรมการของศาลปกครองกลางกรณีนี้จึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงมีคำสั่งว่า การเสนอเรื่องของศาลปกครองกลางไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสองประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่องการพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share