คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 713 เป็นเรื่องผู้จำนองจะชำระหนี้ค้างจำนองเป็นงวด ๆ ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องไถ่ถอนจำนองบางส่วน ส่วนมาตรา 717เป็นเรื่องทรัพย์สินที่จำนองแบ่งออกเป็นหลายส่วน แต่จำนองนี้ก็ยังคงครอบไปถึงทรัพย์หมดทุกส่วน
ก.จำนองที่ดินและตึก 5 คูหาไว้กับจำเลยที่ 1 ดังนี้ ทรัพย์ที่จำนองมิได้แบ่งออกเป็นส่วนที่ดินและตึกที่จำนองเป็นทรัพย์ส่วนเดียวเท่านั้น
ผู้รับจำนองมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้จำนองไถ่จำนองบางส่วนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้รับจำนองกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งทำสัญญาจะซื้อขายทรัยพ์จำนองจากผู้รับจำนอง
ก. เป็นลูกหนี้จำนองจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทวงถามแล้ว ก.ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเป็นต้องขายที่ดินและตึกที่จำนองไว้ ก.จึงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นธุระในการขายโดยกำหนดราคาห้องแต่ละห้องไว้โดยชัดเจน ดังนี้ การมอบหมายมีลักษณะไปในทางที่จะให้จำเลยที่ 1 ควบคุมการซื้อขายทรัพย์จำนอง มากกว่าที่จะให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ก. ยังไม่ถนัด
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จำนอง ฟ้อง ก.ผู้จำนอง เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในธุรกิจการงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะได้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด เมื่อฟ้องแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน อันเป็นสิทธิตามกฎหมายของจำเลย จะว่าจำเลยที่ 1ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ตกลงซื้อทรัพย์ที่จำนองหาได้ไม่
ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มิได้กล่าวไว้เลยว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดอย่างไร โจทก์กล่าวในฎีกาลอย ๆ ว่า โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถือว่าโจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างตัวแทนจำเลยที่ ๑ โจทก์เช่าตึกซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดที่ ๒๕๕๙ จากนายเกศซึ่งจำนองตึกและที่ดินไว้กับจำเลยที่ ๑ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องเลขที่ ๑๙๓ ที่โจทก์เช่าอยู่ กับห้องเลขที่ ๑๙๕ ซึ่งอยู่ติดกัน พร้อมที่ดินจากนายเกศ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอม จึงระงับไป นายเกศมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายตึก ๕ คูหาและที่ดิน โจทก์ตกลงซื้อห้องเลขที่ ๑๙๓ ราคา ๒๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์อาศัยอยู่ในห้องเลขที่ ๑๙๓ ต่อมาโดยไม่เสียค่าเช่า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๑ ฟ้องนายเกศบังคับจำนอง จำเลยที่ ๒ เข้าเบิกความเป็นพยานให้จำเลยที่ ๑ เป็นความเท็จว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยรับหรือทำสัญญารับเงินมัดจำจะขายตึกห้องเลขที่ ๑๙๓ ให้โจทก์ต่อมาจำเลยที่ ๑ กับนายเกศยอมความกัน โดยจำเลยที่ ๑ ลดหนี้ให้นายเกศและให้นายเกศไถ่ถอนจำนองได้ โจทก์ทราบว่านายสงวนตกลงซื้อที่ดินและตึกแถวทั้ง ๕ ห้องจากนายเกศ จึงจ้างทนายความเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท อายัดการไถ่ถอนจำนองและการซื้อขาย โดยโจทก์ยอมเสียค่าเสียหายและค่าเช่าห้องเลขที่ ๑๙๓ ให้นายเกศเป็นเงิน ๓๘,๔๐๐ บาท และต้องยอมซื้อห้องจากนายเกศ ๒ ห้องๆ ละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท
เนื่องจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ขอค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น ๑๐๙,๒๑๒.๕๐ บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการขายทรัพย์แทนนายเกศโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มิได้ทำความตกลงซื้อขายห้องเลขที่ ๑๙๓ และที่ดิน ที่จำเลยที่ ๒ เบิกความต่อศาลแพ่งเป็นความจริง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายดังฟ้อง ฯลฯ
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๕,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒
โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า มีปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ในประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกเอาเหตุการณ์ในตอนแรกที่โจทก์กับนายเกศทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและตึกเลขที่ ๑๙๓,๑๙๕ บาท ขึ้นมาเป็นข้อวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมให้นายเกศแบ่งไถ่ถอนจำนองที่ดินและตึก ๒ คูหานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๑๓ และ ๗๑๗ เพราะนายเกศมีสิทธิจะไถ่ถอนจำนองบางส่วนได้ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย มาตรา ๗๑๓ เป็นเรื่องผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวด ๆ ก็ได้ ถ้ามิได้ตกลงเป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง ไม่ใช่เรื่องไถ่ถอนจำนองบางส่วนมาตรา ๗๑๗ ก็เป็นเรื่องทรัพย์สินที่จำนองแบ่งออกเป็นหลายส่วน แต่จำนองก็ยังคงครอบไปถึงทรัพย์หมดทุกส่วน แต่เรื่องนี้ทรัพย์ที่จำนองมิได้แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ที่ดินและตึกที่จำนองเป็นทรัพย์ส่วนเดียวเท่านั้น กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๗๑๗ อีกเช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้นายเกศไถ่ถอนจำนองที่ดินและตึกบางส่วนได้ พฤติการณ์ตอนนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์
ข้อเท็จจริงได้ตามความต่อไปว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ปฏิเสธไม่ยอมให้นายเกศไถ่ถอนจำนองบางส่วนแล้วนายเกศได้ทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง มีความว่า ขอมอบให้ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (จำเลยที่ ๑) จัดการขายห้องที่ถนนวรจักร จำนวน ๕ ห้อง ตามราคาที่แจ้งไว้ในหนังสือนั้น โจทก์ได้ตกลงซื้อห้องเลขที่ ๑๙๓ ในราคา ๒๔๐,๐๐๐ บาท ได้ชำระราคางวดแรกให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งแสนบาท และได้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ต่อมาจนครบ ๒๔๐,๐๐๐ บาท หลังจากโจทก์ชำระเงินงวดแรกให้จำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเกศ ขอบังคับจำนอง ในที่สุดจำเลยที่ ๑ กับนายเกศตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ ๑ ยอมลดหนี้จำนองให้นายเกศลงเหลือ ๙๗๐,๐๐๐ บาท และยอมให้นายเกศไถ่ถอนจำนองได้ มีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวแล้ว จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๑ หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ เป็นธุระในการขายที่ดินและตึกแถวขายนายเกศ จะถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของนายเกศดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยังไม่ถนัด เหตุที่จำเลยที่ ๑ กระทำเช่นนั้น มีมูลสืบเนื่องมาจากการที่นายเกศเป็นลูกหนี้จำนองจำเลยที่ ๑ อยู่ถึงหนึ่งล้านบาทเศษ จำเลยที่ ๑ ทวงถามแล้ว นายเกศไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเป็นจะต้องขายที่ดินและตึกที่จำนองไว้ นายเกศจึงได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยกำหนดราคาห้องแต่ละห้องไว้โดยชัดเจน พิเคราะห์เจตนาของนายเกศและจำเลยที่ ๑ ในการนี้ มีลักษณะไปในทางที่จะให้จำเลยที่ ๑ ควบคุมการซื้อขายทรัพย์ที่จำนองมากกว่าที่จะให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทน เงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ ๑ แม้ในใบรับจะระบุไว้ว่าเป็นค่ามัดจำการซื้อที่ดินและตึกแถวก็ตาม แต่การปฏิบัติ จำเลยที่ ๑ ก็นำเข้าบัญชีฝากพักไว้ต่างหากในนามของโจทก์ (ซัสเพ้นซ์เอ๊คเคานท์) ภายหลังต่อมาเมื่อโจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ ๑ ค้ำประกันโจทก์ในการทำทรัสท์รีซีทเพื่อนำสินค้าออกกับธนาคารโตเกียวในวงเงินไม่เกิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ก็ค้ำประกันให้ แสดงว่าเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาทนี้ จำเลยที่ ๑ยังถือว่าเป็นเงินของโจทก์อยู่
ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องนายเกศต่อศาล จำเลยที่ ๑ กระทำไปในฐานะผู้รับจำนอง เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในธุรกิจการงานของจำเลยที่ ๑ มิได้มีเจตนาจะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด เมื่อฟ้องแล้วต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายเกส อันเป็นสิทธิตามกฎหมายของจำเลยเช่นเดียวกัน จะว่าจำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์หาได้ไม่ เงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ ไว้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาค้ำประกันกับธนาคารโตเกียวแล้ว โจทก์มาขอรับคืน จำเลยที่ ๑ ก็คืนให้โดยครบถ้วน นอกจากนั้น เมื่อนายเกศไถ่ถอนจำนองไปแล้ว โจทก์ก็ยังไปติดตามซื้อห้องเลขที่ ๑๙๓ และ ๑๙๕ ได้ทั้งสองห้องตรงตามเจตนาเดิม ในราคาเท่าเดิมคือ ๕๐๐.๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่ละเมิดต่อโจทก์ดังฟ้อง
สำหรับจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันว่าไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ มิได้กล่าวไว้เลยว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร โจทก์กล่าวในฎีกาลอย ๆ ว่า โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ เพียงเท่านั้น จึงถือว่าโจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share