คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8802/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 265 , 268 , 335 (3) (8) , 336 ทวิ และกล่าวในฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันงัดกุญแจประตูหน้าบ้านพักอาศัยอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย และเข้าไปในเคหสถานงัดประตูห้องนอนของผู้เสียหาย แล้วร่วมกันลักสายยู 1 อัน ซึ่งใช้ล่ามบานประตูให้ติดกับกุญแจของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานไปโดยทุจริต ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยพยายามเข้าไปลักทรัพย์ที่มิใช่สายยูที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องในเคหสถานของผู้เสียหาย ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง และเป็นข้อสาระสำคัญในความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของ ผู้เสียหายเพื่อลักทรัพย์อื่นที่อยู่ในเคหสถานนั้นด้วย ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์อย่างอื่นของผู้เสียหาย จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์อื่นของผู้เสียหายไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสี่ แต่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันงัดประตูบ้านและประตูห้องนอนเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหาย ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์แล้ว ยังเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 364 รวมอยู่ด้วยซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องด้วยแล้ว ทั้งมีอัตราโทาเบากว่าความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลล่างทั้งสองโทษจำเลยทั้งสองมา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 364 , 83 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ความผิดฐานทำเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันทำปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๒ แผ่น อันเป็นเอกสารราชการ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้นำแผ่นโลหะขนาดเท่าแผ่นทะเบียน รถยนต์ที่แท้จริง จำนวน ๒ แผ่น มาทำให้เกิดความหมายด้วยตัวเลขและตัวอักษร บนแผ่นโลหะดังกล่าวมีข้อความเดียวกันว่า ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร ความจริงหมายเลขทะเบียนรถยนต์ ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวเจ้าพนักงานเป็นผู้ออกให้แก่นางอัปสร ลิ้มตระกูล เท่านั้น แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้รวมกันนำเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมดังกล่าวไปติดไว้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๒ ว – ๔๐๗๑ กรุงเทพมหานคร ของบริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด โดยจำเลยทั้งสองได้นำแผ่นป้ายทะเบียนปลอม ๒ แผ่น ติดทับแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริงที่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๒ ว – ๔๐๗๑ กรุงเทพมหานคร ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่ออำพรางให้บุคคลที่พบเห็นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีหมายเลขทะเบียน ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร และเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าว ได้กระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม นางอัปสร ลิ้มตระกูล บริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด ร้อยตำรวจโทศุภัทร ศุภกำเนิด ผู้จับจำเลยทั้งสองหรือประชาชน แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันงัดกุญแจประตูบ้านหน้าบ้านพักอาศัยของนายกฤษดา ธานี ผู้เสียหายจนเปิดออกแล้วได้เข้าไปงัดประตูห้องนอนของผู้เสียหายเข้าไปลักเอาสายยูจำนวน ๑ ตัว ราคา ๓๐๐ บาท ที่ใช้ล่ามบานประตูให้ติดกับกุญแจของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานไปโดยทุจริต อันเป็นการร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ โดยในการลักทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๒ ว – ๔๐๗๑ กรุงเทพมหานคร ของบริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดเป็นยานพาหนะ เพื่อความสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการถูกจับกุม ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๒ ว – ๔๐๗๑ กรุงเทพมหานคร กับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร ปลอม ๒ แผ่น คีมตัดเหล็ก ๑ อัน ไขควง ๑ อัน ชะแลง ๑ อัน และวิทยุสื่อสาร ๒ เครื่อง ที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ , ๒๖๘ , ๓๓๕ (๓) (๘) , ๓๓๖ ทวิ , ๙๑ , ๘๓ , ๓๓ และให้ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม คีมตัดเหล็ก ไขควง ชะแลง และวิทยุสื่อสารของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารราชการ ปลอมส่วนสายยูที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปนั้นใช้สำหรับคล้องประตูรั้วบ้านของนายกฤษดา ธานี ผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้คีมตักเหล็กตัด สายยูเพื่อต้องการเข้าไปลักทรัพย์อื่นที่อยู่ในบ้านของผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ต้องการลักเอาสายยูของผู้เสียหายไป จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานลักสายยูของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์อื่นของ ผู้เสียหาย และพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก , ๓๓๕ (๓) (๘) , ๓๓๖ ทวิ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ , ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมจำคุกคนละ ๓ ปี ฐานร่วมกันพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ จำคุก ๕ ปี รวมจำคุกคนละ ๘ ปี ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๖ ปี และให้ริบแผ่นป้ายทะเบียน รถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ธ – ๔๓๐๒ กรุงเทพมหานคร คีมตัดเหล็ก ไขควง ชะแลง และวิทยุสื่อสาร ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ , ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๓) (๗) (๘) วรรคสาม , ๓๓๖ ทวิ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ , ๘๓ อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีที่ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายนั้น การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาต้องถือ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกที่หลบหนีไปได้พยายามเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านอันเป็นเคหสถานของนายกฤษดา ธานี ผู้เสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถาน ได้หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ทั้งข้อแตกต่างนั้นเป็นข้อสาระสำคัญ และไม่ใช้เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานนั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวในฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันงัดกุญแจประตูบ้านพักอาศัยอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย และเข้าไปในเคหสถานงัดประตูห้องนอนของผู้เสียหาย แล้วร่วมกันลักสายยู ๑ อัน ราคา ๓๐๐ บาท ซึ่งใช้ล่ามบานประตูให้ติดกับกุญแจของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานไปโดยทุจริต ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยพยายามเข้าไปลักทรัพย์ที่มิใช่สายยูที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องในเคหสถานของผู้เสียหาย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง และข้อแตกต่างนี้เป็นข้อสาระสำคัญในความผิดฐาน ลักทรัพย์ เพราะโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายเพื่อลักทรัพย์ที่อยู่ในเคหสถานนั้นด้วย ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์อย่างอื่นของผู้เสียหาย จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง และวรรคสี่ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมายังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันงัดประตูบ้านและประตูห้องนอนเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหาย ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์แล้ว ยังเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๔ รวมอยู่ด้วย ซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องด้วยแล้ว ทั้งมีอัตราโทษ เบากว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่ศาลทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองมา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒วรรคท้าย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ มาด้วยนั้น หาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานทำเอกสารราชการปลอมจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ , ๘๓ และมาตรา ๓๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๔ , ๘๓ ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุกคนละ ๓ ปี ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน จำคุกคนละ ๓ ปี รวมจำคุกคนละ ๖ ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตารา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๔ ปี ๖ เดือน ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share