คำสั่งคำร้องที่ 314/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจศาลในการฟังพยาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3.1 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ไม่ให้โจทก์ได้รับค่าล่วงเวลาเพราะเหตุว่าโจทก์มิได้ทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องไว้ก่อนนั้นเป็นการฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนและฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากกรณีดังกล่าวกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้บัญญัติว่าจะต้องทักท้วงไว้แต่อย่างใด นอกจากนี้อุทธรณ์ในข้อ 5ยังเป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกว่า ข้อตกลงในเรื่องค่าล่วงเวลาฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่มีผลบังคับ โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 56)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 65,812.50 บาทค่าทำงานในวันหยุด 27,000 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุด 20,250 บาทและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,700 บาทแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 49)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 50)

คำสั่ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเดือนละ 6,000 บาททุกเดือน เป็นค่าเหมาจ่ายค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์อีก ดังนี้ ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 3.1 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ โจทก์น่าจะทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง การที่โจทก์ไม่ทักท้วงทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้จ่ายเงินตามสิทธิให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เป็นคำวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่โจทก์หยิบยกขึ้นมานั้น เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกพยานหลักฐานขึ้นมาประกอบการวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยได้จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ฯลฯให้โจทก์แล้วหรือไม่เป็นการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54สำหรับอุทธรณ์ข้อ 3.2,3.3 และข้อ 4 ของโจทก์นั้นสรุปได้ว่าโจทก์เห็นว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเดือนละ 6,000บาทกรณีต้องฟังว่าเป็นเงินค่ารับรอง 4,000 บาท เงินเบี้ยเลี้ยง2,000 บาทจึงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าเหมาจ่ายค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง เช่นกันส่วนอุทธรณ์ข้อที่ 5 ของโจทก์ที่ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยได้เหมาจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำ เป็นคำวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่าโจทก์หาได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นศาลแรงงานกลางไม่ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share