แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายและรับฟังจำนวนค่าจ้างอัตราสุดท้าย ส่วนข้อ 4โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม จึงไม่รับ คงรับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 1 จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2 ที่ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ความเสียหายให้โจทก์เป็นเวลา 20 เดือน โดยคิดจากรายได้ของโจทก์เดือนละ 80,000 บาท เป็นเงิน 1,600,000 บาท นั้น ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาโดยไม่มี ตัวบทกฎหมายสนับสนุน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 48) ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน3,663,655 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปี เฉพาะค่าชดเชยจำนวน 479,880 บาท ให้คิดตั้งแต่ วันที่ 20 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป ส่วนเงินอื่น ๆให้คิดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2538 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์บางข้อดังกล่าว (อันดับ 40) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 46)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จึงมีอำนาจที่จะกำหนด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 เมื่อศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายเท่าจำนวนค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ 20 เดือน จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนที่ถูกต้องโจทก์ควรมีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง