คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำหนังสือกู้ให้ไว้ เพื่อสมนาคุณที่ผู้กู้ขายสุกรให้ร้านสหกรณ์ซึ่งผู้ให้กู้เป็นเลขานุการ ได้ให้ความสะดวกแก่ผู้กู้ โดยผู้กู้ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เลยอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้กู้นำสืบหักล้างเอกสารกู้ได้

ย่อยาว

โจทก์จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 31เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2497

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2492 จำเลยได้ยืมเงินของโจทก์ไป 20,000 บาท สัญญาว่าจะคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์เมื่อทวงถามดังสำเนาสัญญาท้ายฟ้องโดยมิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนต้นเงินและใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยก็เพิกเฉยเสีย ตั้งแต่วันยืมเงินจนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 4 ปี 15 วันจึงขอให้จำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 26,062 บาท 40 สตางค์ แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินรายนี้ไปจากโจทก์ หนังสือสัญญาท้ายฟ้อง จำเลยไม่เคยทำให้โจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย ถ้าจะฟังว่า หนังสือสัญญาท้ายฟ้องจำเลยทำให้โจทก์จำเลยไม่มีเจตนาจะให้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืม เพียงแต่โจทก์ให้ทำขึ้นเป็นหลักฐานในการที่โจทก์ขอเงินจากจำเลย ๆ จะให้เงินโจทก์เป็นการสมนาคุณที่จำเลยซื้อสุกรมีชีวิตมาขายในร้านสหกรณ์เบตง จำกัดสินใช้ซึ่งโจทก์เป็นเลขานุการ ได้อำนวยความสะดวกให้จำเลย และจำเลยได้ให้เงินแก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ขอไปแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ยืมเงินของโจทก์ก็ไม่ต้องใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามตามสัญญาอำนาจฟ้องจึงยังไม่เกิดขึ้น

ในวันนัดสืบพยาน จำเลยแถลงว่า สัญญาท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยทำไว้ให้โจทก์จริง เหตุที่ทำสัญญาก็แถลงทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้ในคำให้การ โจทก์ยังไม่ได้ทวงถามตามสัญญา หนังสือทวงถามฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2496 ที่จำเลยได้รับจากโจทก์ เป็นหนังสือทวงถามเงินตามสัญญากู้ ลงวันที่ 2 กันยายน 2492 หาใช่ฉบับท้ายฟ้องไม่ หนังสือสัญญากู้ฉบับ ลงวันที่ 2 ตามหนังสือทวงถามนั้นไม่มี จำเลยไม่เคยทำให้โจทก์ จำเลยทำฉบับเดียวตามสัญญาท้ายฟ้องเท่านั้น

จำเลยจะขอสืบว่า ไม่มีการกู้เงินกัน ตามรูปคดีคล้ายเป็นนิติกรรมอำพราง

โจทก์แถลงว่า หนังสือทวงถามที่ให้จำเลยชำระเงินกู้ตามสัญญาลงวันที่ 2 กันยายน 2492 นั้น โจทก์ทำผิดพลาดไป ความจริงเป็นสัญญากู้ ลงวันที่ 1 กันยายน 2492

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลย แต่ให้โจทก์สืบพยานเสร็จแล้วโดยเห็นว่า จำเลยจะสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และจะขอสืบว่าได้ให้เงินแก่โจทก์แล้วก็สืบไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงอีกประการหนึ่งคำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้ง ต่อสู้ในเรื่องนิติกรรมอำพราง ทั้งไม่มีแนวทางมุ่งหมายไปในเรื่องนิติกรรมอำพรางและฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กู้เงินของโจทก์ไปจริง โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 20,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์ได้ทวงถามเงินตามสัญญายืมรายนี้แล้วย่อมมีสิทธิฟ้องได้ ส่วนที่จำเลยจะขอสืบพยานว่า ไม่มีการกู้เงินกันซึ่งเท่ากับเถียงว่า สัญญากู้ยืมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะจำเลยไม่ได้รับเงินไปเลย การกู้ยืมเงินก็เป็นสัญญาใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง บัญญัติว่า “สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม” ฉะนั้นจำเลยจึงนำสืบได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่า ถ้าได้ความจริงดังจำเลยต่อสู้ว่า เหตุที่ทำหนังสือสัญญายืมเงินให้โจทก์ไว้ เพราะเป็นการสมนาคุณที่จำเลยซื้อสุกรมีชีวิตมาขายให้ร้านสหกรณ์เบตง จำกัดสินใช้ซึ่งโจทก์เป็นเลขานุการได้ให้อำนวยความสะดวกแก่จำเลยโดยจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญาเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญานั้น จำเลยย่อมนำสืบได้ จึงสมควรต้องฟังคำพยานทั้งสองฝ่ายในประเด็นข้อนี้ให้สิ้นกระแสความก่อน

จึงให้ยกฎีกาโจทก์ โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับไป

Share