คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจและมีผลใช้บังคับได้เท่าที่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่ พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ก็ตามแต่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวไม่ได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติจึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 การที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งศาลยุติธรรมจะนำมาใช้บังคับแก่คดีเป็นประกาศที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6หรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์สาขาชัยภูมิรวม3 ฉบับ เพื่อประกันการชำระหนี้ทั้งหมด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8294 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 300,000 บาท โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบ และต่อมาได้ตกลงขึ้นเงินจำนองอีก 2 ครั้ง รวมจำนองในวงเงิน 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8295 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยินยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบ และต่อมาได้ตกลงขึ้นเงินจำนองอีก 2 ครั้ง รวมจำนองในวงเงิน 600,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดและค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,908,563.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน1,786,554.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามให้การว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มหรือลดจากที่กำหนดในสัญญาโดยคิดทบต้นเป็นโมฆะ เพราะประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยังไม่มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 1,374,405.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน995,868.35 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 และของต้นเงินตามสัญญากู้เงินประจำจำนวน 378,537.61 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 เมษายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2894 และเลขที่ 2895(ที่ถูกเลขที่ 8294 และเลขที่ 8295) ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้ชำระอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 495,868.35 บาท แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องรับผิดของต้นเงิน 495,868.35 บาท มิให้เกินกว่าอัตราที่ธนาคารโจทก์ประกาศใช้และกระทรวงการคลังอนุญาตให้โจทก์เรียกเก็บได้ และตามสัญญากู้เงินประจำอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 เอกสารหมาย จ.36 นั้น ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2542 ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จึงตกเป็นโมฆะนั้น ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2542 วินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 จะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 หรือไม่ นั้น เห็นว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจไว้และมีผลใช้บังคับได้เท่าที่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติจึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 การที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งศาลยุติธรรมจะนำมาใช้บังคับแก่คดีเป็นประกาศที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 ไม่มีผลใช้บังคับดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 จึงไม่ถูกต้อง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในยอดหนี้ที่ปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.33 จำนวน995,868.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.33 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ฝากเงินสด (รายการ ดีซีเอ) เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันรวม 9 ครั้ง คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 171,000 บาท วันที่ 25 มีนาคม 2540จำนวน 60,000 บาท วันที่ 6 มกราคม 2541 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 3 กุมภาพันธ์2541 จำนวน 1,135.25 บาท วันที่ 31 มีนาคม 2541 จำนวน 5,300 บาท วันที่ 30กรกฎาคม 2541 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 15 กันยายน 2541 จำนวน 10,000 บาทวันที่ 12 ตุลาคม 2541 จำนวน 10,000 บาท และวันที่ 21 ธันวาคม 2541 จำนวน10,000 บาท จึงต้องพิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากเข้าบัญชีดังกล่าวมาหักทอนบัญชีออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในวันฝากเงินสดเข้าบัญชีแต่ละครั้งด้วย ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวมาหักทอนบัญชี แต่มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มตามทุนทรัพย์สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 995,868.35บาท นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันฟ้อง ทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่ม 15,270 บาท จากทุนทรัพย์ 610,781.09 บาท เมื่อรวมกับค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสามชำระไว้เดิม 34,360 บาท จากทุนทรัพย์1,374,405.96 บาท แล้ว จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 49,630 บาทจากทุนทรัพย์ 1,985,187.05 บาท มากกว่าทุนทรัพย์ที่กำหนดตามคำฟ้องคือ1,908,563.03 บาท ซึ่งต้องชำระค่าขึ้นศาล 47,715 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเฉพาะส่วนที่เกินกว่าทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตามฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากศาลไม่อาจพิพากษาให้เกินกว่าที่โจทก์มีคำขอมาได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142วรรคหนึ่ง จึงไม่มีทางเพิ่มทุนทรัพย์ไปจากที่กำหนดในคำฟ้อง และต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินกว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องเป็นเงิน 1,915 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม”

พิพากษาแก้เป็นว่า การคิดยอดหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 171,000 บาท วันที่25 มีนาคม 2540 จำนวน 60,000 บาท วันที่ 6 มกราคม 2541 จำนวน 10,000 บาทวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 1,135.25 บาท วันที่ 31 มีนาคม 2541 จำนวน5,300 บาท วันที่ 30 กรกฎาคม 2541 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 15 กันยายน 2541 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 12 ตุลาคม 2541 จำนวน 10,000 บาท และวันที่ 21ธันวาคม 2541 จำนวน 10,000 บาท ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.33 มาหักทอนบัญชีออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในวันชำระเงินดังกล่าว โดยชำระดอกเบี้ยก่อนเหลือจากนั้นให้ชำระต้นเงิน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 1,915บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share