คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจาก บ. แล้วทำสัญญาจะขายสิทธิการเช่าตึกนั้นให้แก่โจทก์ ในวันโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทนั้น โจทก์เตรียมแคชเชียร์เช็ค จำนวนเงิน530,000 บาท พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญา ณ เวลาที่กำหนดกล่าวคือ แคชเชียร์เช็คได้ระบุวันสั่งจ่ายก่อนถึงกำหนดการโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาท 2 วัน แสดงให้เห็นว่าโจทก์พร้อมที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาต่อจำเลยครบถ้วนแล้วแต่เหตุที่ไม่ได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทต่อกันเนื่องจากจำเลยขอให้เพิ่มเติมข้อความลงในสัญญาเช่าเดิมระหว่างจำเลยกับ บ. ว่า เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิการเช่าแล้วหากสัญญาเช่าสิ้นสุดผู้เช่าต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ถ้าไม่ออกจะต้องถูกปรับเป็นรายวัน ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มภาระและความรับผิดแก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ตกลงกำหนดกันไว้ในสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ชำระหนี้ด้วยการโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทแก่โจทก์ตามเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388
ในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีข้อความว่า เพราะการที่จำเลยต้องย้ำให้โจทก์ทราบว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเดิมแล้วโจทก์ต้องออกจากตึกพิพาทนั้น เนื่องจากจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายตึกดังกล่าวนี้จาก บ. แล้ว โจทก์จะได้ทราบว่า โจทก์จะต้องต่อสัญญาหรือชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยมิใช่ บ. แล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยในการคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วนำมาวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่จำเลยไม่ยอมโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์เนื่องจากจำเลยจะขอปรับเป็นรายวันเกินกว่ากำหนดในสัญญาเช่าเดิมเป็นการเพิ่มข้อตกลง อันเป็นการที่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทั้ง ๆ ที่โจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญาแล้วจึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนโดยชอบแล้ว
ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายสิทธิการเช่าตึกพิพาทระบุว่า ถ้าผู้รับซื้อผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนดในข้อหนึ่งผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำ แต่ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดในข้อหนึ่ง ผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อฟ้องศาลบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้และยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จะซื้ออีก 600,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนี้ ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดเรื่องค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา และโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยชอบโดยบอกกล่าวแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิริบเบี้ยปรับนั้นได้โดยจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 380 และเมื่อเป็นเบี้ยปรับแล้วศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายที่แท้จริงโดยพยานหลักฐานอันใดอีก เพราะได้กำหนดกันไว้ล่วงหน้าแล้ว อันเป็นไปตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ดังนั้น แม้โจทก์จะพิสูจน์ไม่ได้ถึงเรื่องการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ของโจทก์อันเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่จำเลยย่อมต้องรับผิดในเรื่องเบี้ยปรับต่อโจทก์อยู่ดี เพียงแต่ว่าถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาลงได้ โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 176/7 จากนายบุญสมเทียนประทุม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ต่อมาวันที่ 27กรกฎาคม 2537 จำเลยทำสัญญาขายสิทธิการเช่าตึกดังกล่าวให้โจทก์ พร้อมโทรศัพท์หมายเลข 413-0158 และพัดลม 1 เครื่อง โจทก์ยอมเสียค่าตอบแทนให้จำเลย830,000 บาท และโจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าให้นายบุญสมเจ้าของตึกพิพาทอีก 100,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำให้จำเลยเป็นเงิน 300,000 บาทที่เหลือจะชำระในวันโอนสิทธิคือวันที่ 30 กันยายน 2537 ที่บ้านของนายบุญสม หากถึงวันโอนโจทก์ไม่รับโอนสิทธิการเช่ายอมให้จำเลยริบเงินมัดจำ 300,000 บาท แต่ถ้าจำเลยไม่โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาและยอมเสียค่าเสียหายให้โจทก์ 600,000 บาท เมื่อถึงวันนัดโจทก์ได้จัดทำแคชเชียร์เช็คและเงินสดเพื่อเตรียมจ่ายให้จำเลยและนายบุญสมรวมเป็นเงิน 630,000 บาท แต่จำเลยแจ้งว่าจะให้จำเลยโอนสิทธิการเช่า โจทก์ต้องลงชื่อรับรองข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงโจทก์จะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที หากโจทก์ไม่ยอมออกยอมให้ผู้ให้เช่าเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นรายวัน โดยจำเลยไม่ยอมแจ้งจำนวนเงินค่าเสียหายให้โจทก์ทราบ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่มีอยู่ในสัญญาเช่าเดิม และโจทก์ไม่เคยตกลงที่จะเพิ่มเติมเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ยอมลงชื่อรับรองข้อความดังกล่าวทั้งเป็นการเอาเปรียบโจทก์ เพราะจำเลยทราบว่าโจทก์ได้เสนอซื้อตึกแถวดังกล่าวจากนายบุญสม จำเลยจึงได้ไปทำสัญญาจะซื้อขายตึกแถวนี้จากนายบุญสมแล้วเอาสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในตึกแถวมาบีบบังคับโจทก์ ทำให้จำเลยไม่พอใจและไม่โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะได้เตรียมการตกแต่งสถานที่เพื่อเปิดเป็นร้านขายทองรูปพรรณ จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตและจงใจหาประโยชน์จากโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำกับค่าเสียหายตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจำนวน 600,000 บาท แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินมัดจำ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอีก 600,000 บาท ตามสัญญาแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้เช่าตึกแถวเลขที่ 176/7 และได้ทำสัญญาขายสิทธิการเช่าให้โจทก์ตามฟ้องจริง แต่จำเลยไม่ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเอง จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำ และโจทก์ไม่ได้เสียหาย เนื่องจากยังไม่ได้ตกแต่งสถานที่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย50,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากนายบุญสม เทียนประทุม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ตามสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาซื้อสิทธิการเช่าตึกพิพาทกับจำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 ในราคา 830,000 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนในการเช่าตึกพิพาทแก่นายบุญสมอีก 100,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำแก่จำเลยไว้ 300,000บาท โดยนัดโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาท ในวันที่ 30 กันยายน 2537 ที่บ้านของนายบุญสมก่อนถึงวันนัดโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาท จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินในตึกพิพาทออกพร้อมส่งมอบแก่โจทก์ได้ เมื่อถึงวันนัดโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาท โจทก์นำเงินที่ค้างชำระจำนวน530,000 บาท เป็นแคชเชียร์เช็คพร้อมที่จะมอบแก่จำเลยตามสำเนาภาพถ่ายแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.3 และเตรียมเงินที่จะชำระให้แก่นายบุญสมจำนวน 100,000 บาทมาพร้อม แต่ในวันดังกล่าวโจทก์และจำเลยไม่ได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทเพราะตกลงกันไม่ได้ อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมตึกพิพาทซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างจากนายบุญสมเจ้าของตึกพิพาท ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.4

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในวันโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทนั้น โจทก์เตรียมแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 530,000 บาท พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญา ณ เวลาที่กำหนด ซึ่งระบุวันสั่งจ่าย วันที่ 28 กันยายน 2537 โดยเป็นวันก่อนถึงกำหนดการโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาท 2 วัน แสดงให้เห็นว่าโจทก์พร้อมที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาต่อจำเลยครบถ้วนแล้ว เหตุที่ไม่ได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทต่อกัน น่าเชื่อว่าเนื่องจากจำเลยขอให้เพิ่มเติมข้อความลงในสัญญาเช่าเดิมระหว่างจำเลยกับนายบุญสมว่า เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิการเช่าแล้ว หากสัญญาเช่าสิ้นสุดผู้เช่าต้องออกจากสถานที่เช่าทันทีถ้าไม่ออกจะต้องถูกปรับเป็นรายวัน แต่จำเลยไม่ยอมกำหนดอัตราค่าปรับได้ ซึ่งตามสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เอกสารหมาย จ.1 ระหว่างนายบุญสมกับจำเลย และตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่พิพาทกัน ก็หาได้ระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวไว้แต่อย่างใดไม่ ประกอบกับจำเลยเองได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมตึกพิพาทจากนายบุญสมเจ้าของตึกพิพาทไว้ก่อนแล้วในวันที่ 8 กันยายน 2537 ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.4กำหนดชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 พร้อมกับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมทั้งตึกพิพาทไว้ตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 3 ก. และ ข. ซึ่งจำเลยจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกพิพาทก่อนครบกำหนดการเช่าของโจทก์ จำเลยเบิกความว่าปัจจุบันจำเลยยังอาศัยอยู่ในตึกพิพาท มีเหตุทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยต้องการปรับโจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด อันถือได้ว่าเป็นการเพิ่มภาระและความรับผิดแก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ตกลงกำหนดกันไว้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ชำระหนี้ด้วยการโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทแก่โจทก์ตามเวลาที่กำหนดไว้จริง โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388

ส่วนการที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยมิได้เคยยอมรับในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าเป็นการปรับรายวันเพิ่มเติมในสัญญาเช่าเดิม จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีข้อความว่า เพราะการที่จำเลยต้องย้ำให้โจทก์ทราบว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเดิมแล้วโจทก์ต้องออกจากตึกพิพาทนั้น เนื่องจากจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายตึกดังกล่าวนี้จากนายบุญสมแล้ว โจทก์จะได้ทราบว่าโจทก์จะต้องต่อสัญญาหรือชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยมิใช่นายบุญสมแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยในการคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วนำมาวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่จำเลยไม่ยอมโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์เนื่องจากจำเลยจะขอปรับเป็นรายวันเกินกว่ากำหนดในสัญญาเช่าเดิม เป็นการเพิ่มข้อตกลง อันเป็นการที่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้ง ๆ ที่โจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญาแล้ว จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนโดยชอบแล้ว

จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์นำสืบเรื่องการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย แม้คู่สัญญาจะระบุจำนวนเบี้ยปรับไว้แน่นอนก็ตาม โจทก์ก็ไม่สมควรได้เบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 ระบุว่า “ถ้าผู้รับซื้อผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนดในข้อหนึ่ง ผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำ แต่ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดในข้อหนึ่ง ผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อฟ้องศาลบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ และยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จะซื้ออีก 600,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วย” ดังนี้ ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดเรื่องค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยชอบโดยบอกกล่าวแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิริบเบี้ยปรับนั้นได้โดยจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 380 และเมื่อเป็นเบี้ยปรับแล้วศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายที่แท้จริงโดยพยานหลักฐานอันใดอีกเพราะได้กำหนดกันไว้ล่วงหน้าแล้ว อันเป็นไปตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ดังนั้น แม้โจทก์จะพิสูจน์ไม่ได้ถึงเรื่องการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ของโจทก์อันเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่จำเลยย่อมต้องรับผิดในเรื่องเบี้ยปรับต่อโจทก์อยู่ดีดังกล่าวเพียงแต่ว่าถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาลงได้ โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามสัญญาจำนวน 600,000 บาท ลงมาเพราะเห็นว่าคู่สัญญาได้กำหนดไว้สูงเกินส่วนโดยให้จำเลยรับผิดเพียง 50,000 บาท แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นจำนวนพอสมควรทั้งเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว

พิพากษายืน

Share