คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ซึ่งศาลแรงงานกลางจะพิพากษาตามคำขอได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าคำสั่งเลิกจ้างเป็นคำสั่งที่มิชอบอันถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างฉบับเดียวกันนั้น โดยอาศัยเหตุจำเลยผิดสัญญา แต่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาเพิกถอนได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบอันเป็นการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขระดับ 3 ทำหน้าที่ควบคุมวงจรถ่ายทอดโทรเลขอัตโนมัติประจำศูนย์โทรคมนาคมนครสวรรค์ สำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคมเขตกลางจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,550 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10172/2536 ในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่รับอุทธรณ์และศาลฎีกาเห็นว่าคดีมีประเด็นเฉพาะเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนเรื่องจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยไม่เกี่ยวกับข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย และสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม ให้จำเลยปรับขั้นเงินเดือนตามจำนวนปีที่โจทก์เสียไปในระหว่างเลิกจ้างและให้นับอายุงานต่อเนื่องให้ กับให้จำเลยจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างเงินโบนัส เงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์เสียไปในระหว่างเลิกจ้างโดยคิดอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนเงินบำเหน็จและเงินชดเชยที่จำเลยได้จ่ายมาให้แก่โจทก์ในการเลิกจ้างให้หักกลบกันไป หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานก็ให้ใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 3,690,513.89 บาท และให้จำเลยชำระเงินเดือนกับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานถึงวันที่จำเลยเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นให้โจทก์ออกจากงานพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่ปี 2535 ถึงปี 2539 รวมเป็นเงิน 75,956.40 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเนื่องจากโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ขอให้ยกฟ้อง

ในระหว่างการพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ และฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 ของศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เคยนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่ง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 ของศาลแรงงานกลาง คดีนั้นศาลแรงงานกลางจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคดีได้ความว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบอันถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างฉบับเดียวกันนั้นอีก ซึ่งศาลแรงงานกลางจะพิพากษาเพิกถอนได้ก็ต่อเมื่อคดีได้ความว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบอันเป็นการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้อาศัยเหตุจำเลยผิดสัญญาจ้าง มิได้อาศัยเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะอาศัยเหตุจำเลยผิดสัญญามาเป็นข้อหาในฟ้องเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย แต่การที่ศาลแรงงานกลางจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อคดีฟังได้ว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบ ซึ่งก็เป็นการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนนั่นเอง เมื่อคดีก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share