แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนี้ตามคำพิพากษามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 168 เดิม แต่เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงขาดอายุความ และถือว่าเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) การที่เจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี และได้เงินมาบางส่วนแล้วนั้น ไม่ใช่การทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิม และแม้จะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาเป็นมูลฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วก็ไม่ผูกพันศาลต้องถือตาม
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมศักดิ์ ไวยฉายหรือไวฉาย เป็นจำเลยขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2536 ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน1,507,683.26 บาท รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่าควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 1,507,081.38 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2519 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เงินชำระหนี้เจ้าหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 ต่อมาเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6พฤศจิกายน 2535 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องและเพื่อให้ชำระหนี้ย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(5) เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 ยังไม่ล่วงเลยกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาชั้นที่สุดของศาลซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 เดิม (มาตรา 193/32 ใหม่) แต่เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงขาดอายุความและถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) การที่เจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน10 ปี และได้เงินมาบางส่วนแล้วนั้น ไม่ใช่เป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิม (มาตรา 193/14(5) ใหม่) ดังที่เจ้าหนี้ฎีกา และแม้จะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาเป็นมูลฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วก็ตามก็ไม่ผูกพันศาลต้องถือตาม ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ชอบแล้ว”
พิพากษายืน