แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคสอง ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ จะต้องเป็นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม การที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองจึงมิใช่ความสำคัญผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่ เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาดซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้ว ตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้อง จึงไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดปัตตานี ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการซื้อทรัพย์โดยติดจำนองว่าเมื่อซื้อทรัพย์แล้วต้องไปไถ่ถอนจำนองอีก โดยผู้ร้องเข้าใจว่าเมื่อผู้ร้องซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแล้วก็จะได้ทรัพย์ไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ อีก อันเป็นการสำคัญผิดของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทำให้ผู้ร้องต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แต่การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎกระทรวงว่าด้วยการขายทอดตลาดและตามข้อกำหนดของศาลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้นทุกประการจึงเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยชอบ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินได้ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนอง เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156 วรรคสอง ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ จะต้องเป็นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น กรณีของผู้ร้องมิใช่ความสำคัญผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่ เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้วตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจะอ้างในภายหลังว่าผู้ร้องไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดโดยติดจำนองหาได้ไม่ นิติกรรมจึงไม่เป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน