คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าตนมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายนั้น ย่อมหมายความว่าสิทธิของโจทก์ก็คือสิทธิที่จะรับมรดกของผู้ตายให้ตกทอดมายังตนตั้งแต่เจ้ามรดกตาย ดังนั้น แม้โจทก์จะขอเพียงให้ทำลายพินัยกรรม หาได้ขอให้ศาลพิพากษาให้เอาทรัพย์ที่จำเลยโต้แย้งคืนมาเป็นของโจทก์ไม่ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องแล้วว่า ก่อนตายเจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นมรดกหลายอย่าง ทุกข์ของโจทก์ที่ตั้งข้อพิพาทก็คือ กล่าวอ้างว่าที่ดิน 2 แปลงตามโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยตกทอดมาจากผู้ตาย แต่จำเลยเอาไปเสีย โดยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ อย่างนี้แสดงว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างให้ปรากฏแล้วว่าได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโจทก์เสนอคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ทุกข์ของโจทก์ที่กล่าวมาก็คือ การที่ไม่ได้ที่ดิน 2 แปลงนั้นจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ประกอบตาราง 1(1) ต้องคิดค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์สินที่พิพาท การที่โจทก์ไม่ได้ขอเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลงนั้นเป็นความผิดของโจทก์เอง จะเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์หาได้ไม่ (อ้างคำสั่งที่ 1559/2492)ส่วนจะพิพากษาให้เกินคำขอได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 25/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องนายซอ นายซอตาย มีทรัพย์หลายอย่างเช่น ที่ดินตำบลแพงพวย จังหวัดราชบุรี โฉนดที่ 4356, 4597 โจทก์มีสิทธิรับมรดก จำเลยทำหนังสือขึ้นเพื่อให้เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง แต่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วเอาไปอ้างรับมรดกของนายซอ เจ้าพนักงานที่ดินจึงใส่ชื่อจำเลยในโฉนดดังกล่าว และจำเลยยังนำหนังสือนี้มาอ้างในคดีแพ่งดำที่ 326/2500 ของศาลจังหวัดราชบุรีอีก ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมนี้เป็นโมฆะ

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าพินัยกรรมชอบ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และเห็นว่าเพียงแต่จำเลยมีหนังสือพินัยกรรมยังไม่มีข้อโต้แย้ง ยังไม่พอรับข้ออ้างและคำขอเป็นคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาในที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์อ้างในฟ้องว่ามีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายซอ ซึ่งหมายความว่าสิทธิของโจทก์ก็คือสิทธิที่จะรับมรดกของนายซอให้ตกทอดมายังโจทก์ตั้งแต่นายซอตาย การที่จำเลยอ้างพินัยกรรมมาโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ก็คือโต้แย้งสิทธิที่โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของนายซอที่ตกทอดมายังโจทก์นั่นเอง แต่โจทก์หาได้มีคำขอในฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ทรัพย์ที่จำเลยมาโต้แย้งเอาไปเป็นของจำเลยกลับคืนมาเป็นของโจทก์ไม่ฟ้องโจทก์ก็บรรยายว่าก่อนตายนายซอมีทรัพย์สินเป็นมรดกหลายอย่างแต่ที่ดินโฉนดที่ 4356, 4597 ที่โจทก์อ้างถึงก็เป็นแต่ทรัพย์บางอย่างของนายซอเท่านั้น ทุกข์ของโจทก์ที่โจทก์ตั้งข้อพิพาทมาในคดีนี้ก็คือ กล่าวอ้างว่าที่ดินตามโฉนด 2 แปลงนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยตกทอดมาจากนายซอ แต่จำเลยเอาที่ดิน2 แปลงนั้นไปเสียโดยจำเลยอ้างว่านายซอ ทำพินัยกรรมยกให้ แสดงว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างให้ปรากฏแล้วว่าได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของโจทก์ โจทก์ย่อมเสนอคดีของโจทก์ต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนที่ดิน 2 แปลงตามโฉนดนั้นให้โจทก์ก็ดี ศาลก็จำต้องรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณา

แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีความเห็นต่อไปว่าทุกข์ของโจทก์ที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคดีนี้ ก็คือ การที่ไม่ได้ที่ดิน 2 แปลงนั้น จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ประกอบด้วยตาราง 1(1) ท้ายประมวลกฎหมายนั้น ศาลต้องคิดค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์สินที่พิพาท แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลงนี้ก็ตาม ก็เป็นความผิดของโจทก์เอง ส่วนจะเป็นกรณีที่จะพิพากษาให้เกินคำขอได้หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จากการคิดค่าขึ้นศาลตามมาตรา 150 โจทก์จะมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยแต่เฉพาะข้อโต้แย้งสิทธิอันเป็นแต่เพียงเหตุที่จะนำไปสู่การปลดเปลื้องทุกข์ของโจทก์โดยเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้นหาได้ไม่ ดังศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำสั่งในคดีดำที่ 1559/2492 คดีระหว่างร้อยเอกมนตรีวงษ์ บุนนาค กับพวกโจทก์ หลวงชล พาหนะรักษ์ กับพวก จำเลย

ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์นั้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาเสียตามราคาทรัพย์ที่พิพาทตามโฉนด 2 แปลงนั้นตามวิธีพิจารณาความ ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด แล้วดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ

Share