คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีข้าราชการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เงินของทางราชการถูกยักยอกไป อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รับทราบรายงานการสอบสวนว่าจำเลยต้องรับผิด
คำสั่งทางราชการมิให้นายอำเภอเก็บเงินไว้เกิน 8,000 บาท ถ้าเกินให้นายอำเภอหรือผู้รักษาการแทนนำส่งจังหวัดแต่ถ้าติดราชการจะนำส่งเองไม่ได้ก็ให้ตั้งกรรมการอำเภออย่างน้อย 2 นาย คุมเงินไปส่งได้ จำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอ ได้เก็บเงินไว้เกินจำนวนที่กำหนด จำเลยที่ 1 ติดราชการจึงสั่งตั้งกรมการอำเภอ 3 นาย คุมเงินไปส่งจังหวัดโดยระบุชัดว่าต้องร่วมกันระวังรักษาและห้ามมิให้แยกย้ายจากกันตลอดเวลาที่เงินอยู่ในความรับผิดชอบแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นรักษาการแทนนายอำเภอได้มอบเงินให้กรมการอำเภอเพียง 2 นาย คุมเงินไปส่งเพราะกรมการอำเภออีก 1 นายนั้นติดราชการแต่ก็ได้ให้ตำรวจอีก 2 นาย ร่วมทางไปด้วย ในการส่งเงิน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการคุมเงินไปด้วยกลับนั่งรออยู่นอกห้องสรรพากรและห้องคลังจังหวัด ปล่อยให้กรรมการอีก 1 นายเอาเงินเข้าไปส่งผู้เดียว เป็นเหตุให้กรรมการผู้นั้นทำลายใบนำส่งและเขียนขึ้นใหม่เป็นนำเงินส่งน้อยกว่าจำนวนที่รับมอบมาแล้วยักยอกเอาเงินที่เหลือไว้เป็นของตน ดังนี้ จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดฐานละเมิดเพราะจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของนายอำเภอผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 มาตรา71,72,79 ความเสียหายจึงได้เกิดขึ้นส่วนจำเลยที่ 1 ถึงแม้จะฝ่าฝืนคำสั่งเก็บเงินไว้เกินจำนวนที่กำหนด แต่ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นในตอนนั้น และจำเลยที่ 1,2 ก็ได้สั่งการไปโดยชอบแล้ว ในการคุมเงินไปส่งจำเลยที่ 1,2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งจังหวัดเป็นเหตุให้นายสุทิน ปัญญโชติยักยอกเงินไป 19,000 บาท แต่นายสุทินใช้เงินคืนบ้างแล้วจึงขอให้จำเลยร่วมกันใช้เงินที่ขาด 17,593.12 บาท

จำเลยให้การว่า ไม่ได้ประมาท และจำเลยที่ 2, 3 ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ 1 ปี แล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่านายสุทินปลอมใบนำส่งเงินเป็นเรื่องสุดวิสัยจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องในการทุจริตด้วย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 3 ผู้เดียวประมาท พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินตามฟ้อง

โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 นับแต่วันผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เรื่องนี้ ทางการตั้งกรรมการสอบสวนและได้รายงานเสนอผลการสอบสวนว่าจำเลยต้องรับผิดเมื่อ 29 ธันวาคม 2499 นับถึงวันฟ้อง (25 ธันวาคม 2500) ยังไม่เกิน 1 ปีคดีไม่ขาดอายุความ

ส่วนปัญหาความรับผิด เห็นว่า ถึงแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งรักษาการแทน จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งทางราชการโดยเก็บรักษาเงินไว้เกินกว่า 8,000 บาท เกินกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนดก็ดี แต่ในระยะแรกนี้ความเสียหายไม่เกิดขึ้นความเสียหายเพิ่งเกิดขึ้นตอนที่นายสุทินกับจำเลยที่ 3 นำเงินไปส่งคลังซึ่งห่างไกลกับเหตุที่จำเลยที่ 1, 2 รักษาเงินไว้เกินกว่าที่ทางราชการกำหนดยังไม่พอถือว่าจำเลยที่ 1, 2 ประมาทเลินเล่อเพราะเหตุนี้

การนำเงินส่ง มีคำสั่งกระทรวงการคลังว่า ถ้านายอำเภอหรือผู้รักษาการแทนติดราชการอื่นที่สำคัญกว่า ก็ให้จัดกรมการอำเภอ 2 นายไปส่งแทนได้จำเลยที่ 1 นายอำเภอติดราชการ จึงสั่งตั้งกรรมการ 3 นาย (คือ นายสุทิน สมุห์บัญชีอำเภอตรี, จำเลยที่ 3 ป่าไม้อำเภอ,นายจันทร์ อนามัยอำเภอ) ซึ่งเป็นกรมการอำเภอนำเงินไปส่ง ซึ่งชอบด้วยระเบียบทางราชการแล้ว

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นปลัดอำเภอซึ่งขณะนั้นรักษาการแทนนายอำเภอก็ได้กรรมการ 2 นายไปส่งเงิน เพราะกรรมการอีก 1 นายติดราชการและอยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 2 ที่จะตั้งกรรมการ 2 นายไปส่งเงินได้ ทั้งได้ให้ตำรวจอีก 2 นายร่วมทางไปด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

สำหรับจำเลยที่ 3 ปรากฏว่า เวลานายสุทินนำเงินเข้าไปส่งในห้องสรรพากรจังหวัดและคลังจังหวัด กลับนั่งรออยู่ข้างนอก ผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นโอกาสให้นายสุทินยักยอกเงินได้ โดยทำลายใบนำส่งเขียนขึ้นใหม่ เป็นนำเงินส่งตามจำนวนใหม่ที่น้อยกว่าเดิม จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย และเอาใจใส่ระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 มาตรา 71, 72, 79 เมื่อจำเลยฝ่าฝืนและเกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับนายสุทิน ซึ่งถูกพิพากษาให้ใช้เงินที่ยักยอกรายเดียวกันนี้ในคดีอาญาแดงที่ 269/2499 แล้ว

พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับนายสุทินใช้เงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

Share