คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลย ศาลพิพากษาให้โจทก์ออกไป และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลย คดีถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจำเลยยังมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป เนื่องจากโจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงการเช่าขึ้นมาใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าและไม่มีสัญญาเช่าระหว่างกันนั้น โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามข้อตกลงการเช่าที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้าง เพียงแต่ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น เป็นการยกข้ออ้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั่นเอง ข้อตกลงการเช่าตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาเช่าในคดีก่อนซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการชอบแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป และให้ขับไล่โจทก์พร้อมบริการออกไปจากที่ดินพิพาท การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลย 2 ฉบับ ฉบับแรก บริเวณถนนสุนทรโกษาพร้อมอาคาร ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 6709 และ 4853 เมื่อวันที่ 25ตุลาคม 2528 ฉบับที่สองบริเวณหัวโค้งทางแยกตรงข้ามกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 23กันยายน 2529 ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าทั้งสองฉบับ หลังจากนั้นโจทก์ยังคงทำประโยชน์ในที่ดินและชำระค่าเช่าให้จำเลยเมื่อประมาณต้นปี 2540 โจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงการเช่าที่ดินทั้งสองแปลงขึ้นใหม่ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปี 2540 โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยเสนอ และจำเลยยังให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวของจำเลยตลอดมาโดยไม่มีสัญญาเช่าระหว่างกัน ซึ่งเท่ากับจำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวใหม่อีกต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่า การบอกกล่าวครั้งก่อนย่อมถือว่าเป็นอันยกเลิกตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นใหม่ และขณะนี้จำเลยยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ได้ทราบก่อนตามกฎหมาย ก่อนที่จำเลยจะกลับเข้าครอบครองที่ดิน จำเลยกลับมีเจตนาไม่สุจริตโดยเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2541 จำเลยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปขับไล่มิให้โจทก์และบริวารอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคาร ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 6709 และ 4853 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารและที่ดินบริเวณหัวโค้งทางแยกตรงข้ามกรมศุลกากรตามสัญญาเช่าที่ดินทั้งสองฉบับ

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 863/2537 ของศาลแพ่งซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า คดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 863/2537 ของศาลแพ่ง จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 863/2537 ของศาลแพ่งหรือไม่เห็นว่า คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลย ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยในสภาพเรียบร้อย คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน และอยู่ในระหว่างการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจำเลยยังมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป เนื่องจากเมื่อประมาณต้นปี 2540 โจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงการเช่าที่ดินพิพาทกันขึ้นมาใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่า และไม่มีสัญญาเช่าระหว่างกันนั้น โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามข้อตกลงการเช่าที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างแต่อย่างใดเพียงแต่ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ยกข้ออ้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนนั่นเอง ข้อตกลงการเช่าตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาเช่าในคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป และให้ขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share