แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าเงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยหรือเป็นเบี้ยปรับย่อมขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าเจ้าหนี้เรียกเอาเงินนั้นโดยอาศัยเหตุใด หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือต่ำลงตามที่กำหนดในสัญญาโดยมิได้คำนึงว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ ย่อมเป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับตามอัตราที่เปลี่ยนแปลง ศาลจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าอาศัยข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เรียกเอาจากลูกหนี้เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ย่อมเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383
สัญญากู้เงินระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา ผู้กู้ตกลงเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินที่ผิดนัด และเอกสารแสดงรายการชำระหนี้มีข้อความในตอนหมายเหตุว่า เริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ21.00 ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป แสดงว่าโจทก์อาศัยสิทธิตามสัญญากู้เงินเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี เนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดังนี้แม้จะระบุว่าเงินดังกล่าวเป็นดอกเบี้ย แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 570,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เปลี่ยนแปลงทั้งนี้ จำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 8,500 บาท มีกำหนด 10 ปี หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 114488 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวมีข้อสัญญาว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 723,252.20 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 458,438.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยออกขายทอดตลาด หากขาดจำนวนอยู่เท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 458,438.20 บาท แก่โจทก์และดอกเบี้ย7,212.55 บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 458,438.20 บาทนับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้นำเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์หลังวันที่ 21 ตุลาคม 2540 มาหักออกจากดอกเบี้ยค้างชำระ หากมีเงินเหลือให้หักจากต้นเงินค้างชำระในวันที่ได้ชำระเงินด้วย หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 114488 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 570,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี แต่โจทก์อาจปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ และจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 8,500 บาท มีกำหนด 10 ปี มีข้อสัญญาว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ยอมให้โจทก์คิดเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 21 ของต้นเงินที่ผิดนัด ทั้งนี้ จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 114488 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยอมรับผิดในส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2540 จึงผิดนัดไม่ชำระหนี้ หลังจากนั้นโจทก์คิดเบี้ยปรับในยอดหนี้ที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี คงมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 เป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจลดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยหรือเป็นเบี้ยปรับย่อมขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าเจ้าหนี้เรียกเอาเงินจำนวนนั้นโดยอาศัยเหตุใด หากเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือต่ำลงตามที่กำหนดในสัญญาโดยมิได้คำนึงว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เงินจำนวนนั้นย่อมเป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับตามอัตราที่เปลี่ยนแปลง ศาลจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้อาศัยข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เรียกเอาเงินจำนวนหนึ่งจากลูกหนี้เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เงินจำนวนดังกล่าวย่อมเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 3 ผู้กู้ตกลงเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินที่ผิดนัด…” และเอกสารแสดงรายการชำระหนี้หมาย จ.11 แผ่นที่ 2 มีข้อความในตอนหมายเหตุว่า “เริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 21.00 ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป” เห็นได้ว่าโจทก์อาศัยสิทธิตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4 เรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดังนี้ แม้ในเอกสารหมาย จ.11 จะระบุว่าเงินดังกล่าวเป็นดอกเบี้ย แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจลดลงได้เป็นจำนวนตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 12 ต่อปี นั้น ตามเอกสารแสดงรายการชำระหนี้หมาย จ.11 ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 17.75 ต่อปี ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ12 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตามปกติก่อนที่จำเลยผิดนัดย่อมไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ปัญหาว่าควรลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนเท่าใด จึงจะเหมาะสมแก่ทางได้เสียของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งยังมิได้ผ่านการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี