คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว อันเป็นผิดตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว 2493 มาตรา 5,20 นั้น ศาลจะลงโทษได้ในปีสุดท้าย(ซึ่งอยู่ในอายุความ)ปีเดียว คือปรับไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น

ย่อยาว

จำเลยรับสารภาพตามฟ้องลงวันที่ 31 มกราคม 2499 ฟังได้ว่าเมื่อระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2493 ตลอดมาถึง 31 สิงหาคม 2498 จำเลยอายุ 37 ปี เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมาย เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เหตุเกิดตำบลวังใหม่อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 20 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2495 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 1,000 บาท ลดฐานปรานีเพราะรับสารภาพลงกึ่ง คงปรับ 500 บาท บังคับค่าปรับตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18นับโทษต่อจากโทษคดีแดงที่ 2279/2498 ของศาลอาญา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กฎหมายบัญญัติโทษปรับไม่เกินปีละ 500 บาทและความผิดตามกฎหมายนี้มีอายุความให้ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันกระทำผิด หากแต่ตราบใดที่จำเลยฝ่าฝืนไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ได้ชื่อว่ากระทำผิดอยู่ตลอดมา ฉะนั้น ภายใน 1 ปีนับแต่วันโจทก์ยื่นฟ้องย้อนขึ้นไป คดียังอยู่ในอายุความที่พึงลงโทษได้คือปรับไม่เกิน 500 บาท ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลชั้นต้นปรับมาถึง 1,000 บาท เกินไป จึงพิพากษาแก้ให้ปรับในระหว่างเวลาตามนัยที่กล่าวแล้ว เป็นเงิน 400 บาท ลดฐานปรานีลงกึ่งหนึ่ง เหลือ200 บาท นอกจากนี้คงเดิม

โจทก์ฎีกาความว่า เห็นด้วยที่ลงโทษเฉพาะในปีกระทำผิดที่อยู่ในอายุความฟ้อง แต่การวางเกณฑ์ส่วนของกำหนดโทษให้ใช้จำนวนปีที่กระทำผิดละเลยไม่ไปขอใบสำคัญฯ เป็นตัวคูณ เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดยอมเสี่ยงหาผลดีในการละเลยไม่ต้องเสียทั้งค่าใบสำคัญและค่าปรับ

ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัว ฯลฯมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นรายปี ๆ ละไม่เกิน 500 บาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติดังกล่าวแล้ว เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ก็รับอยู่แล้วว่า จำเลยจะต้องรับโทษเพียงความผิดที่ยังอยู่ภายในข่ายอายุความ หากจะวางเกณฑ์อัตราคูณส่วนถึงปีก่อน ๆ ที่เกินอายุความ 1 ปีไปแล้ว ก็เท่ากับเอาโทษในความผิดที่ขาดอายุความไปแล้วเข้ามาด้วย หาชอบไม่ ที่กฎหมายระบุอัตราปรับเป็นรายปี ๆ ละไม่เกิน 500 บาทนั้น ก็เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในปีกระทำผิดที่อยู่ภายในอายุความลงโทษมากน้อยตามควรแก่กรณี เช่น ไม่มีมาหลายปีต่อเนื่องกัน ซึ่งจะต้องถูกลงโทษในปีท้าย (ภายในอายุความ) ได้ปีเดียว ก็อาจวางโทษในข่ายระดับสูงหรือเพิ่งไม่มีมาใหม่ ๆ ก็วางระดับให้ต่ำกว่า แต่กรณีจะอย่างไรก็ตาม จะวางให้เกินข่าย 500 บาท หาได้ไม่

ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

Share