คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยปลอมหนังสือกู้ แต่พิจารณาไม่ได้ความว่าจำเลยปลอมเอง การที่หนังสือกู้อยู่ในครอบครองของจำเลยจะสันนิษฐานว่าจำเลยปลอมเองไม่ได้ จำเลยอาจให้ผู้อื่นปลอม ถ้าโจทก์ไม่กล่าวในฟ้องว่าจำเลยสมคบกับผู้อื่นปลอมหนังสือ ก็จะลงโทษจำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์แก้ให้ลงโทษตามกฎหมายเก่า เพราะกำหนดโทษที่ลงอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมายเก่าดังนี้ เป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นครูประชาบาล เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2495 จำเลยได้ตกลงซื้อไม้เสาจากนายหมาดี 6 ต้น เป็นเงิน 60 บาท จำเลยจ่ายเงินให้แก่นายหมาดีล่วงหน้า โดยจำเลยให้นายหมาดีทำเป็นสัญญากู้เงิน 60 บาท ให้แก่จำเลยไว้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้นระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม 2495 ถึงวันที่ 8มกราคม 2497 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจปลอมหนังสือสัญญากู้เงินรายนี้ โดยแก้จำนวนเงิน 60 บาท เป็น 4,000 บาท โดยจงใจจะให้นายหมาดีและโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2497 เวลากลางวัน จำเลยได้นำเอาสัญญาปลอมนี้มาฟ้องเรียกเงินกู้จากโจทก์และนายหมาดีตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6/2497 แดงที่ 30/2497 ของศาลจังหวัดชัยภูมิและเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2497 เวลากลางวันจำเลยสาบานตนแล้วบังอาจนำเอาความซึ่งรู้อยู่ว่าเท็จอันเป็นข้อสำคัญแพ่งคดีมาเบิกความต่อศาลว่านายหมาดีกู้เงินของจำเลยไป 4,000 บาท โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันความจริงนายหมาดีไม่ได้กู้เงินจำเลยไป 4,000 บาท และโจทก์ไม่ได้ค้ำประกันเงินกู้ 4,000 บาท เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 222, 223, 224, 155

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล จึงสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เชื่อว่าหนังสือสัญญากู้ฉบับ 4,000 บาทนี้ ได้ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่คู่สัญญามุ่งผูกพันกัน แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ชัดว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมเองสมตามฟ้อง ฟังลงโทษจำเลยฐานปลอมหนังสือสัญญากู้ฉบับนี้ยังไม่ได้เมื่อฟังว่าเอกสารสัญญากู้ทำขึ้นไม่ถูกต้องตรงความจริง และจำเลยเองนำเอกสารนี้ฟ้องโจทก์ ทั้งได้เบิกความสาบานตนว่านายหมาดีได้กู้เงินจำเลยไป 4,000 บาท โดยมีนายไหมโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155 อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 3 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 โดยจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือนข้อหาฐานปลอมหนังสือให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมหนังสืออีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยคัดค้านว่า ไม่ควรมีความผิด

ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2495 นายหมาดีขายเสา 6 ต้น ราคา 60 บาทให้แก่จำเลยแต่เสาตัดทิ้งไว้ในป่าให้จำเลยไปขนเอาเอง จำเลยตกลงซื้อแต่ไม่ไว้ใจนายหมาดี จึงให้นายหมาดีทำสัญญากู้เงิน 60 บาท ค่าเสาไว้และให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยจ่ายเงินให้นายหมาดีไป 58 บาทโดยหักเป็นค่าเขียนกับค่าอากรแสตมป์ แล้วจำเลยไม่ไปเอาเสาต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2497 จำเลยได้ยื่นฟ้องนายหมาดีกับโจทก์เรียกเงินตามสัญญากู้ 4,000 บาท ความจริงนายหมาดีทำสัญญากู้เงินจำเลยไปเพียง 60 บาท และโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ 60 บาทนี้เท่านั้น นายหมาดีเป็นคนจนถ้ากู้เงินจำเลยถึง 4,000 บาท โจทก์ก็ไม่ยอมค้ำประกันให้ในคดีที่จำเลยฟ้องเรียกเงินกู้ 4,000 บาท นั้นจำเลยเบิกความต่อศาลว่านายหมาดีเป็นผู้กู้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งไม่เป็นความจริง หนังสือสัญญากู้ที่จำเลยนำมาฟ้องนั้นปลอมจำนวนเงิน ส่วนชื่อโจทก์ที่เซ็นในสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น จำไม่ได้ว่าจะเป็นลายเซ็นของโจทก์หรือมิใช่คดีนั้น ศาลฎีกาไม่เชื่อว่านายหมาดีได้กู้เงินจำเลยไป 4,000 บาท และโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันดังที่จำเลยฟ้อง ได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องของจำเลย

จำเลยนำสืบว่า สัญญากู้ที่จำเลยนำมาฟ้องเรียกเงินจากนายหมาดีกับโจทก์จำนวน 4,000 บาท นั้น เป็นสัญญาที่นายหมาดีกู้เงินจำเลยไป 4,000 บาท จริง และโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยไม่ได้ปลอม จำเลยไม่เคยซื้อไม้เสาจากนายหมาดี และไม่เคยให้นายหมาดีทำสัญญากู้เงิน 60 บาท โดยให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์คำพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว เชื่อว่าจำนวนเงินในสัญญากู้ที่เขียนไว้สี่พันบาทถ้วนนั้น เป็นการปลอมขึ้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่นายหมาดีกู้จากจำเลย และโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันใครเป็นผู้ปลอมจำนวนเงินในสัญญากู้นี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ สัญญาอยู่กับจำเลย จำเลยยืนยันว่านายหมาดีกู้เงินไป 4,000 บาท ตามหลักฐาน ต้องฟังว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมจำนวนเงินกู้นี้โดยไม่สงสัย เพราะเป็นประโยชน์ได้เสียของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ทำปลอม ใครจะทำปลอมขึ้นทำไม จำเลยต้องมีความผิดฐานปลอมหนังสือ ส่วนข้อหาว่าเบิกความเท็จนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยปลอมจำนวนเงินกู้แล้ว มาเบิกความเป็นพยานยืนยันตามที่ทำปลอมขึ้นว่าเป็นหนังสือสัญญากู้อันแท้จริงจึงเป็นการเบิกความเท็จ แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155 แต่ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยกระทำผิดในขณะใช้กฎหมายลักษณะอาญาต้องใช้กฎหมายลักษณะอาญามาปรับบทลงโทษจำเลย เมื่อเทียบกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 3) มาตรา 4 กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก จะเห็นได้ว่า ถ้าจะวางโทษจำคุกจำเลย ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึง 5 ปี ก็ต้องใช้กฎหมายลักษณะอาญา ถ้าจะวางโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่า 6 เดือน ลงมา จึงจะใช้ประมวลกฎหมายอาญาได้เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมหนังสือ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 224 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยในกระทงนี้มีกำหนด 1 ปี และจำเลยผิดฐานเบิกความเท็จตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155 นอกจากที่แก้นี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงคารมของคู่ความและปรึกษาคดีนี้แล้ว ได้ความว่านายหมาดีเป็นคนจน ไม่มีหลักทรัพย์อันใดซึ่งโจทก์ก็รู้ดีไม่ปรากฏว่านายหมาดีจำเป็นจะต้องใช้เงินถึง 4,000 บาท เพื่อเอาไปทำอะไร ถ้านายหมาดีกู้เงินถึง 4,000 บาท โจทก์ก็ไม่ยอมเป็นผู้ค้ำประกันให้ ได้พิเคราะห์จำนวนเงินที่เขียนในสัญญากู้ เห็นได้ชัดว่าสีน้ำหมึกและลายมือต่างกันกับลายมือของนายคำนายผู้เขียนข้อความอื่น ๆ ไว้ในสัญญากู้ ฉบับนั้น น่าเชื่อว่ามีการเขียนจำนวนเงินสี่พันบาทถ้วนปลอมขึ้นจริง เมื่อจำเลยฟ้องเรียกเงินกู้จากนายหมาดีและโจทก์ในคดีก่อน ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ (จำเลยคดีนี้) ว่าไม่มีน้ำหนักหลักฐานให้เชื่อถือได้ว่า ได้มีการกู้เงินกัน 4,000 บาท ตามฟ้อง

ข้อวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้ทำปลอมขึ้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอันใดแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ทำปลอมดั่งที่กล่าวในฟ้อง การที่สัญญากู้ฉบับนี้อยู่ในความครอบครองของจำเลยจะสันนิษฐานว่า จำเลยเป็นผู้ทำปลอมขึ้นด้วยตนเองอาจผิดความจริงได้จำเลยอาจให้ผู้อื่นเขียนปลอมก็เป็นได้ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยสมคบกับผู้อื่นปลอมหนังสือ ฯลฯจักลงโทษจำเลยในฐานนี้ไม่ได้ส่วนข้อหาฐานเบิกความเท็จนั้นศาลทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 6 เดือน จำเลยฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ส่วนบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์วางมาสำหรับความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น ชอบแล้ว

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะข้อหาฐานปลอมหนังสือเป็นให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้นี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share