แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์และโจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้บริหารหน่วยงานขายประกันชีวิตของโจทก์แก่ผู้ขอเอาประกันชีวิต โดยจำเลยได้รับเงินเดือนและแบ่งปันผลประโยชน์จากเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตจากลูกค้าที่จำเลยขายได้ เหลือรายได้สุทธิโจทก์ต้องจ่ายให้จำเลยโดยหักกลบลบหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระ ดังนี้ เมื่อคำให้การจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมจนถึงวันที่ 16 มกราคม2537 เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้อง แสดงว่าหนี้เงินที่ค้างชำระคิดถึงวันที่ 16 มกราคม 2537 แต่เงินรายได้ของจำเลยเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยจะต้องนำเงินรายได้ของจำเลยหักกลบลบหนี้ที่จำเลยค้างชำระให้โจทก์ก่อนเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธินำเงินรายได้ดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระตามฟ้องได้
โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชำระต้นเงินกู้ค้างชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ค้างชำระอื่น ๆ เช่น การเบิกเงิน เป็นต้น เป็นยอดหนี้ค้างชำระภายหลังที่โจทก์คิดยอดหนี้เงินกู้ตามฟ้องแล้วเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวมาด้วย โจทก์จะนำยอดหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยขอให้นำมาหักกลบลบหนี้กับยอดหนี้ตามฟ้องไม่ได้
แม้หนังสือสัญญากู้ยืมข้อ 5 จะกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องทวงถามในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถามไปอย่างไร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ชอบแล้ว
ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167และตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติให้ศาลต้องสั่ง ที่หนังสือสัญญากู้ยืมข้อ 3 วรรคสองและข้อ 5 ระบุให้ผู้กู้ยืมต้องรับผิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินคดีและการบังคับการชำระหนี้ด้วยนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงให้จำเลยต้องชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินค่าทนายความตามที่โจทก์ฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,869,015.72 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินยืม 1,928,349 บาทและต้นเงินเบี้ยประกันภัย 6,864 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปีทบเข้ากับต้นเงิน โดยเงินกู้นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2537 และต้นเงินเบี้ยประกันภัยนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2538 ซึ่งโจทก์ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปนำมาคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดห้องชุดเลขที่ 1809/30, 1809/32 ถึง41 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดนิรันดร์คอนโดมิเนียม 9 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 17/2534 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 12918 ถึง 12920ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า จำเลยค้างชำระหนี้อยู่เท่าใด พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์119,272.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2539 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วนให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 3,760,000บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.4 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มตามความประสงค์ของโจทก์ไม่เกินจำนวนที่กฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 กำหนดไว้และหากมีดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ก็ยินยอมให้นำทบเข้ากับต้นเงินที่กู้ยืมโดยให้ถือว่าเป็นต้นเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราและตามกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยได้นำห้องชุดของอาคารชุดนิรันดร์คอนโดมิเนียม9 จำนวน 22 ห้อง ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 12918 ถึง 12920 ตำบลเทพารักษ์ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการจำนองเป็นประกันเงินกู้ จำเลยได้ผ่อนชำระเงินกู้บางส่วนและไถ่ถอนห้องชุดจากการจำนองคงเหลือเพียง 11 ห้อง แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2537 จำเลยค้างชำระต้นเงิน 1,928,349บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี คิดแบบทบต้นจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 882,135.46 บาท และค่าเบี้ยประกันภัย 2 ปี เป็นเงิน 6,864 บาท รวมดอกเบี้ยอีก 1,667.26 บาท รวมเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น2,819,015.72 บาท ส่วนโจทก์ว่าจ้างจำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นผู้บริหารหน่วยงานขายประกันชีวิตของโจทก์แก่ผู้ขอเอาประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน2536 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยได้รับผลตอบแทนค่าจ้างเป็นเงินเดือนและแบ่งปันผลประโยชน์จากเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตจากลูกค้าที่จำเลยขายได้เป็นรายเดือน ทั้งนี้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้จำเลยด้วย เหลือรายได้สุทธิโจทก์ต้องจ่ายให้จำเลยโดยหักกลบลบหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระให้โจทก์ก่อน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 ห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 มีรายได้เป็นเงินทั้งสิ้น2,699,743.10 บาท ตามหนังสือรับรองรายได้เอกสารหมาย ล.10, ล.17และ ล.18 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยนำเงินรายได้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 จำนวน 2,699,783.10บาท หักกลบลบหนี้ที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้หรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้แล้วว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยได้นำหักกลบลบหนี้ต่อกันเรื่อยมาโดยตลอดถึงวันฟ้อง จำเลยค้างชำระหนี้เป็นเงิน 2,819,015.72 บาท เป็นการแสดงว่ามีการหักกลบลบหนี้ต่าง ๆ ที่มีต่อกันโดยตลอดมาจนถึงวันฟ้องแล้ว ดังนั้น จะวินิจฉัยต่อไปอีกถึงรายได้ของจำเลยในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993ตามหนังสือรับรองรายได้เอกสารหมาย ล.10, ล.17 และ ล.18 แล้วนำมาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยค้างชำระอีกไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมจนถึงวันที่ 16มกราคม 2537 เป็นเงิน 1,928,349 บาท และดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้องเป็นเงิน 882,135.46 บาท ตลอดจนค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น แสดงว่า หนี้เงินที่ค้างชำระ 1,928,349 บาท คิดถึงวันที่ 16มกราคม 2537 ก่อนวันที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2538 แต่เงินรายได้ของจำเลยในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 ตามหนังสือรับรองรายได้เอกสารหมาย ล.10, ล.17 และ ล.18 จำนวน 2,699,743.10 บาท เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 ภายหลังจากที่โจทก์คิดยอดเงินกู้ยืมค้างชำระเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2537 แล้ว เมื่อโจทก์รับว่า โจทก์จ้างจำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้บริหารหน่วยงานขายประกันชีวิตของโจทก์ โดยจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนและผลประโยชน์จากค่าเบี้ยประกันชีวิตของลูกค้าที่จำเลยขายประกันชีวิตได้และต้องนำหักกลบลบหนี้ที่จำเลยค้างชำระให้โจทก์ก่อน และห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 มีรายได้เป็นเงิน 2,699,743.10 บาท เช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธินำเงินรายได้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 จำนวนดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระตามฟ้องได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำสืบถึงหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 ได้ เพื่อแสดงว่าโจทก์ได้นำเงินรายได้ของจำเลยไปหักชำระหนี้ในส่วนอื่น ๆ ด้วยนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชำระต้นเงินกู้ค้างชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 มิได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องและยอดหนี้ตามเอกสารดังกล่าว เช่น รายละเอียดการเบิกเงินยืมหรือเงินทดรองหรือเงินอื่น ๆ ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 ระบุว่า เป็นการเบิกเงินตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2539 และรายการหักชำระหนี้ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.16 รายการที่ 1 เป็นรายการนำเงินส่งกรมบังคับคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 ถึงเดือนสิงหาคม2539 รายการที่ 4 และที่ 5 เป็นยอดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของจำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2537 ซึ่งเป็นยอดหนี้ค้างชำระภายหลังที่โจทก์คิดยอดหนี้เงินกู้ตามฟ้องแล้วเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวมาด้วย โจทก์จะนำยอดหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง1993 ที่จำเลยขอให้นำหักกลบลบหนี้กับยอดหนี้ตามฟ้องไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์เรียกให้จำเลยชำระเงินค่าทวงถามและค่าทนายความรวมเป็นเงิน50,000 บาท ได้หรือไม่ เห็นว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการทวงถามนั้นแม้หนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 5 จะกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องทวงถามในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาแต่ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถามไปอย่างไร คงมีแต่นายรณชัย ทองเนื้อแปด หัวหน้าแผนกพิธีการสินเชื่อมาเบิกความเป็นพยานเพียงว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการอย่างใด ๆ อันเกี่ยวกับการทวงถามอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ชอบแล้ว ส่วนค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161, 167 และตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลต้องสั่งในเรื่อง ค่าฤชาธรรมเนียมโดยความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายแพ้คดีอยู่แล้ว ตามสัญญากู้ยืมเงินข้อ 3 วรรคสองระบุว่า “ถ้าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ผู้กู้ยินยอมให้ถือว่าผิดนัดในหนี้ทั้งหมดและยอมให้ผู้ให้กู้ยืมฟ้องร้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดตลอดจนค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดผิดสัญญานี้จากผู้กู้ยืมจนครบถ้วนได้ทันที” และข้อ 5ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ยืมผิดข้อตกลงในข้อหนึ่งข้อใดแห่งสัญญานี้ ผู้กู้ยืมยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น บรรดาที่ให้ผู้กู้ยืมจะพึงได้รับอันเนื่องจากมาจากความผิดข้อตกลงของผู้กู้ยืม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตือนเรียกร้อง ทวงถาม ดำเนินคดี และบังคับการชำระหนี้ด้วยจนเต็มจำนวนทุกอย่างทุกประการ” ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงให้จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินค่าทนายความตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า มีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้บริษัทประกันชีวิต เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.6 ดังนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะจำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มตามความประสงค์ของโจทก์ไม่เกินจำนวนที่กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 กำหนดไว้ ส่วนการคิดดอกเบี้ยทบต้นของโจทก์ก็เป็นการคิดทบเป็นต้นเงินที่กู้ยืมที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราและตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจำเลยก็ได้ยอมรับอยู่แล้วว่าจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยตามฟ้องจริง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามฟ้องจึงถูกต้องแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
สรุปแล้ว จำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์เป็นเงิน 1,928,349 บาท ดอกเบี้ยทบต้นเป็นเงิน 882,135.46 บาท เบี้ยประกันชีวิตพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน8,531.26 บาท รวมเป็นเงิน 2,819,015.72 บาท และโจทก์ค้างชำระเงินรายได้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรทอง 1993 เป็นเงิน 2,699,743.10 บาทเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยคงค้างชำระหนี้เพียง 119,272.62 บาทแต่จะต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 119,272.62บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2