คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอทุเลาภาษีซึ่งตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรโจทก์ที่ 1 กำหนดให้นำหลักทรัพย์ไปประกันอย่างใดอย่างหนึ่งคือ โฉนดที่ดินซึ่งมีราคาเป็น 2 เท่าของเงินภาษีที่ค้างชำระโดยจำนองแก่ทางราชการ หรือจัดให้มีธนาคารค้ำประกัน การที่จำเลยที่ 2ซึ่งมิใช่ธนาคารทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโจทก์ที่ 2ได้มีหนังสือสอบถามโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือตอบโจทก์ที่ 2ว่าไม่ตรงตามหลักเกณฑ์วางไว้ ขอให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องทั้งโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงยอมรับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ที่ 1 จะเคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรได้ แต่ก็ได้ระบุต่อไปว่า จะต้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันให้ถูกต้องจึงมิใช่การยอมรับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 จัดทำส่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้มุ่งประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โดยเข้าถือเอาสัญญาค้ำประกันดังกล่าว เมื่อต่อมาหลังจากที่จำเลยที่ 2 เสนอหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองแล้วเป็นเวลา 6 ปีแต่โจทก์ทั้งสองไม่รับ จำเลยที่ 2 ได้ขอหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,400,604.47 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญาค้ำประกันซึ่งมีผลผูกพันต่อจำเลยที่ 2 กล่าวคือจำเลยที่ 1ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน 2522 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำหลักทรัพย์ไปวางเพื่อค้ำประกันหนี้ภาษีอากร ในระหว่างอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 เสนอตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน โดยเอาโรงงานผลิตเสาคอนกรีตเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนจำนองรวม 2 ครั้ง แต่โจทก์ปฏิเสธคำเสนอของจำเลยที่ 2 นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ยังไม่เกิดขึ้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 20,400,604.47 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกจำเลยที่ 1 มาไต่สวนการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2516 ถึง 2518 แล้วประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มกับภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งภาษีส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้นจำนวน 21,002,574.84 บาท จำเลยที่ 1อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วให้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลปีภาษี 2516 และ 2518 ลดลงโดยจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รวมทั้งสิ้นจำนวน 17,009,597.51 บาท จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ที่ 1ต่อศาลภาษีอากรกลาง คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง ระหว่างที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่เร่งรัดภาษีและยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 31 แต่ตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 การทุเลาหนี้ภาษีอากรต้องนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองหรือให้ธนาคารค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ยื่นหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2524 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 30 วันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 2ขอหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวคืนตามเอกสารหมาย จ.3แผ่นที่ 36 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่คืนให้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 30 หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือค้ำประกันถูกต้องแล้ว จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอทุเลาภาษีซึ่งตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 กำหนดให้นำหลักทรัพย์ไปประกันหนี้ภาษีอากรอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. โฉนดที่ดินซึ่งมีราคาเป็น 2 เท่าของเงินภาษีที่ค้างชำระโดยจำนองแก่ทางราชการหรือ 2. จัดให้มีธนาคารค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 211การที่จำเลยที่ 2 เข้ามาทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 146 สอบถามโจทก์ที่ 1 ถึงการที่จำเลยที่ 2 ขอเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 มีนโยบายการทำสัญญาค้ำประกันรายนี้เป็นประการใดและโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือตอบโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมายจ.3 แผ่นที่ 113 ว่าการค้ำประกันดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1วางไว้ ขอให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทั้งโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 77ว่าการค้ำประกันโดยไม่นำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากไม่จดทะเบียนจำนองก็ต้องจัดให้มีธนาคารค้ำประกัน แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงยอมรับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด แม้โจทก์ที่ 1 จะเคยมีหนังสือลงวันที่ 12 มีนาคม 2529 ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 3 ถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรได้ แต่ตามหนังสือฉบับดังกล่าวก็ได้ระบุต่อไปว่า จะต้องให้จำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 การแจ้งอนุมัติดังกล่าวจึงหาใช่การยอมรับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 จัดทำส่งให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่ พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และติดตามจำเลยทั้งสองให้มาทำสัญญาจำนองหรือหาหลักประกันอื่นมาวางให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1กำหนดจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้มุ่งประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2โดยเข้าถือเอาสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีหาใช่โจทก์ที่ 1 ตกลงรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว แต่ให้จำเลยที่ 1 หาหลักประกันเพิ่มดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ เมื่อต่อมาหลังจากที่จำเลยที่ 2 เสนอหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองแล้วเป็นเวลา 6 ปี แต่โจทก์ทั้งสองไม่รับจำเลยที่ 2จึงได้ขอหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวคืน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 30 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share