คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หญิงชายลอบได้เสียกันจนเกิดบุตร ไม่แสดงว่าชายจะเลี้ยงดูหญิงเป็นภริยาและไม่ได้แสดงออกต่อคนทั่วไปว่าอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ไม่เป็นภริยาชายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาชายจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นทายาท เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อชายตายได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ผู้ตายลักลอบได้เสียกับผู้ร้องและเกิดบุตรด้วยกัน 1 คนนั้น ถือได้หรือไม่ว่าผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เห็นว่า การที่ผู้ตายขณะที่มีอายุ 16-17 ปี และกำลังเรียนหนังสืออยู่ลักลอบได้เสียกับผู้ร้องในระหว่างที่มาอาศัยบ้านคุณหญิงวาดอยู่จึงเป็นการยากที่จะเชื่อว่าผู้ตายมีเจตนาที่จะอยู่กินกับผู้ร้องด้วยกันฉันสามีภรรยา แม้จะมีบุคคลผู้ที่อยู่ในบ้านคุณหญิงวาดหรือเข้านอกออกในได้ดังที่ได้กล่าวมารู้ว่าผู้ร้องได้เสียเป็นสามีภรรยากับผู้ตายก็ไม่เป็นการเปิดเผยแก่คนทั่วไป เมื่อผู้ร้องคลอดบุตรแล้ว 1 เดือน ผู้ตายได้ออกจากบ้านคุณหญิงวาดไปอยู่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งผู้ร้องก็เบิกความรับว่าบิดามารดาผู้ตายเป็นคนพาไป จึงน่าเชื่อว่าเหตุที่ผู้ร้องออกจากบ้านคุณหญิงวาดไปอยู่วัดเบญจมบพิตรเพราะคุณหญิงวาดไม่ต้องการรับผู้ตายไว้ในบ้านต่อไปเนื่องจากผู้ตายมีความประพฤติไม่ดี ที่ลักลอบได้เสียกับผู้ร้องซึ่งเป็นเด็กสาวในบ้านโดยไม่เกรงใจเจ้าของบ้านคือคุณหญิงวาดผู้ให้ที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพราะผู้ร้องให้ผู้ตายไปอยู่วัดเบญจมบพิตรเพื่อให้ผู้ตายมีเวลาเรียนหนังสือได้สะดวก จิตใจไม่ต้องวอกแวกดังที่ผู้ร้องเบิกความ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วบิดามารดาผู้ตายก็ไม่จำเป็นต้องมาพาผู้ตายไปอยู่วัดเบญจมบพิตร บิดามารดาผู้ตายก็ไม่ใช่คนมีฐานะยากจน ได้ส่งนางไสว นามขุนทอง และนางแสวง คีรีพิศ พี่สาวผู้ตายมาเรียนในกรุงเทพฯ อยู่โรงเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีล่างมาก่อนแล้ว ที่ผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อผู้ตายไปอยู่วัดเบญจมบพิตรพอเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว และได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจนสำเร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2483 รวม 8 ปีในระหว่างนี้ผู้ตายก็กลับมาอยู่กินกับผู้ร้องที่บ้านคุณหญิงวาดในวันเสาร์อาทิตย์ผู้ร้องได้รับเงินเดือนจากคุณหญิงวาดเดือนละ 30 บาท ได้ส่งเงินให้ผู้ตายใช้เดือนละ 20 บาท จึงไม่น่าเชื่อในสูจิบัตรของร้อยตรีหญิงจิรา วงศ์สุทัศน์ที่มีชื่อผู้ตายเป็นบิดา ผู้ตายก็ไม่ได้ไปแจ้งแต่นายประเสริฐเป็นคนนำใบแจ้งเกิดของเจ้าบ้านไปแจ้ง หากผู้ร้องกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยาหลังจากที่ผู้ตายลักลอบได้เสียกันแล้วจริงดังที่ผู้ร้องเบิกความ ผู้ตายกับผู้ร้องก็น่าจะต้องมีเยื่อใยต่อมาบ้าง แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้ตายเรียนสำเร็จเป็นนายทหารแล้ว ก็ได้ออกไปรับราชการต่างจังหวัดตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2483และย้ายเข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2492 และอยู่ในกรุงเทพฯตลอดมาจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2516 ผู้ร้องไม่เคยไปอยู่กินกับผู้ตายหรือมีจดหมายติดต่อส่งข่าวถึงกันเลย ผู้ร้องเพิ่งจะมาแสดงตัวว่าเป็นภรรยาผู้ตายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว เพื่อที่จะขอรับมรดกของผู้ตาย ตามข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวมา แม้ผู้ตายจะมีบุตรกับผู้ร้องคือร้อยตรีหญิงจิรา วงศ์สุทัศน์ แต่ความประพฤติของผู้ตายที่ลักลอบได้เสียกับผู้ร้องที่บ้านคุณหญิงวาดนั้น ไม่ได้แสดงว่าผู้ตายจะเลี้ยงผู้ร้องเป็นภรรยาและไม่ได้แสดงออกว่าได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาเป็นการเปิดเผยแก่คนทั่วไปผู้ตายและผู้ร้องจึงไม่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 922-923/2464 ระหว่างพระโสภณเพ็ชร์รัตน์กับพวก โจทก์ พระพิไสยสุนทรการ จำเลย นางลิ้นจี่ ณ นคร ผู้ร้องขัดทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้าง ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้ร้องคัดค้านนั้นปรากฏว่าได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2502 ตามเอกสารหมาย ล.11 จึงเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกเพิ่มศักดิ์ อาจหาญสมรภูมิ ผู้ตาย ชอบแล้ว”

Share