แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชาวตลาดกับโจทก์ตั้งจำเลยที่ 2,3,4 กับ บ. เป็นตัวแทนให้มีอำนาจตกลงกับ ส. และจำเลยที่ 1เกี่ยวกับการก่อสร้างและการเช่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยวางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้างแล้ว แม้จะปรากฏว่าผู้เช่าห้องบางรายมิได้วางเงินตามข้อสัญญา ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาด้วยหาได้ไม่ เพราะต้องถือว่าชาวตลาดที่ลงชื่อในหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 2,3 และ 4 กับ บ. เป็นตัวแทน ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกัน จำเลยที่ 2,3 และ 4 กับ บ. มีอำนาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวตลาดแต่ละคนนั้นแยกเป็นรายๆกัน
จำเลยรับเหมาปลูกสร้างตึกแถว โจทก์ประสงค์จะเช่าโดยยอมเสียเงินกินเปล่า จึงได้วางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้าง แต่จำเลยก่อสร้างตึกแถวไม่ได้ เพราะกำลังเป็นความกับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากกรมการศาสนาและเป็นผู้จ้างจำเลยปลูกสร้าง ดังนี้ ถือว่าจำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะทำการชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนโจทก์ได้ ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์ยังไม่ออกไปจากห้องเช่าเดิมเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจะริบมัดจำของโจทก์ไว้ไม่ได้
จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างตลาดได้เพราะกรมการศาสนาบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินที่ปลูกสร้างตลาดกับส. กรณีจึงเข้ามาตรา 378(3) จำเลยจึงต้องคืนมัดจำให้โจทก์
จำเลยเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป ไม่มีการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นการผูกพันชาวตลาด ซึ่งเป็นตัวการไม่ให้เรียกคืนเงินมัดจำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับเหมาปลูกสร้างตึกแถวและแผงลอยจากนายสง่า โจทก์ประสงค์จะเช่า 2 ห้อง โดยยอมเสียเงินกินเปล่าให้ 130,000 บาท จำเลยรับรองว่าโจทก์จะมีสิทธิเช่าได้ 12 ปี จำเลยทั้งสี่เรียกเงินมัดจำ 20,100 บาท และทำหนังสือรับผิดให้โจทก์เป็นหลักฐานและว่าจะลงมือปลูกสร้างภายใน 10 เดือน ต่อมามีอุปสรรคในการก่อสร้าง โจทก์บอกเลิกสัญญาและขอรับเงินมัดจำคืน จำเลยไม่คืน ขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวและดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมนายสง่าและนางสังวาลย์เช่าที่ธรณีสงฆ์สร้างตลาด โจทก์กับจำเลยที่ 2, 3, 4 กับคนอื่นเช่าค้าขายต่อมานายสง่านางสังวาลย์รื้อตลาด จึงทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างโดยยอมให้จำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าช่วยก่อสร้างจากผู้จะเช่าชาวตลาดกับโจทก์ตั้งจำเลยที่ 2, 3, 4 กับนายบักเว้งเป็นตัวแทนให้มีอำนาจตกลงกับนายสง่า นางสังวาลย์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการก่อสร้างและการเช่า ต่อมาตัวแทนชาวตลาดได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 วางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และรับจะนำผู้เช่าห้องและแผงลอยมาแต่เดิมมาทำสัญญาและวางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้างกับจำเลยที่ 1 ให้ครบทุกราย ต่อมาจำเลยที่ 2, 3, 4 กับนายบักเว้งผิดสัญญามิได้นำผู้เช่าห้องมาทำสัญญาวางเงินกับจำเลยที่ 1 และไม่จัดการให้ผู้เช่าออกไป ถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 เลิกสัญญาและริบมัดจำ โจทก์รับเงินมัดจำและค่าเสียหายไปจากจำเลยที่ 2, 3, 4 แล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ
จำเลยที่ 2, 3, 4 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างแต่จำเลยที่ 2, 3, 4 เป็นตัวแทนชาวตลาด มีหน้าที่เจรจากับนายสง่า นางสังวาลย์และผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2, 3, 4 ให้ความยินยอมให้โจทก์เช่าตึกสร้างใหม่ได้ จำเลยที่ 1 รับเงินกินเปล่าไปผู้เดียว ฯลฯ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 ผู้เดียวรับเงินมัดจำ 20,100 บาทจากโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 20,100 บาทแก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมัดจำ คงใช้ยันจำเลยที่ 1 ได้ และเห็นได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาวางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้าง ฯลฯ ลงวันที่28 เมษายน 2501 ข้อ 4 โดยได้มาวางมัดจำตามที่จำเลยที่ 2, 3 และ 4 สัญญาไว้ว่าจะนำผู้เช่าห้องแถวและผู้เช่าแผงลอยมาวางมัดจำต่อจำเลยที่ 1 เป็นรายห้อง รายแผง ภายในกำหนด 30 วันนั้นแล้ว ทั้งนี้แม้จะปรากฏว่าผู้เช่าห้องหรือแผงลอยบางรายมิได้วางเงินตามสัญญาข้อนี้ จะพลอยถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญาด้วยหาได้ไม่เพราะต้องถือว่าชาวตลาดที่ลงชื่อในหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 2, 3 และ 4 กับนายบักเว้งเป็นตัวแทน ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกัน จำเลยที่ 2, 3 และ 4 กับนายบักเว้งมีอำนาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวตลาดแต่ละคนนั้นแยกเป็นราย ๆ กัน
ในข้อที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาวางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้าง ฯลฯ ข้อ 5 คือ ไม่ออกจากห้องเช่าเก่าภายใน 6 เดือน เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างนั้น โจทก์ได้นำสืบว่า ต่อจากที่โจทก์วางมัดจำแล้ว 5-6 เดือน จำเลยที่ 1 ก็เป็นความกับนายสง่า และนางสังวาลย์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากกรมการศาสนาและเป็นผู้จ้างเหมาจำเลยที่ 1 ให้ปลูกสร้างตลาดใหม่โจทก์และชาวตลาดคนอื่นไปสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่ากำลังเป็นความอยู่ ยังปลูกสร้างไม่ได้ ต่อมาโจทก์ไปขอมัดจำคืนจำเลยที่ 1 กลับว่าให้ไปฟ้องเอา ฝ่ายจำเลยก็รับว่าจำเลยที่ 1 เป็นความกับนายสง่าและนางสังวาลย์ ทำให้จำเลยที่ 1 ลงมือก่อสร้างไม่ได้ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เองไม่อยู่ในฐานะที่จะทำการชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนโจทก์ได้ ฉะนั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 211 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ยังไม่ออกไปจากห้องเช่าเดิมนั้นเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอ้างเหตุตามเอกสารหมาย ล.1 เพื่อริบมัดจำของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในที่สุดจำเลยไม่สามารถก่อสร้างตลาดรายนี้ได้ เพราะกรมการศาสนาได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินปลูกตลาดกับนายสง่า และนางสังวาลย์ กรณีจึงเข้ามาตรา 378(3) ซึ่งบัญญัติให้ส่งคืนมัดจำ ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินมัดจำนั้นให้โจทก์ นอกจากนี้โจทก์และพยานโจทก์ได้ปฏิเสธว่า ไม่เคยบอกให้จำเลยริบมัดจำ ตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ก็ว่า จำเลยที่ 2, 3 และ 4 กับนายบักเว้งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป จำเลยที่ 2, 3 และ 4 กับนายบักเว้งจึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาวางเงินมัดจำช่วยค่าก่อสร้าง ฯลฯ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2502 ให้เป็นการผูกพันชาวตลาดไม่ให้เรียกคืนเงินมัดจำนั้นได้ เพราะไม่มีการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งตามมาตรา 801
พิพากษายืน