คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประมาทโดยแซงรถจักรยานและจักรยานยนต์ข้างหน้าเป็นเหตุให้ต้องวิ่งรถเลยกึ่งกลางถนนมาแล้วเกิดชนกันขึ้นข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญของฟ้องว่าประมาท และเป็นต้นเหตุใกล้ชิดของการที่รถชนกันขึ้นอยู่ที่ขับรถกินทางไปทางขวาจนเกินทางของตนมิใช่การแซงรถ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยขับรถกินทางไปทางขวาเกินกว่ากึ่งกลางถนนไปชนรถที่จำเลยอีกคนหนึ่งขับสวนมา แม้จะไม่มีการแซงรถก็ตรงกับฟ้องและความประสงค์ให้ลงโทษแล้ว ไม่ถือว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
รถยนต์บรรทุกของ ถ้าไม่รับจ้างบรรทุกก็เป็นรถบรรทุกของส่วนบุคคลไม่ใช่รถยนต์สาธารณะจำเลยมีใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลจึงขับรถดังกล่าวนี้ได้ ไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้บังอาจขับขี่รถยนต์โดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนยานพาหนะตามกฎหมายและได้ขับโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับรถเร็วฝ่าฝืนกฎหมายและกฎข้อบังคับ และต่างขับกินทางมาทางด้านขวามือของตนเมื่อแซงรถจักรยานและรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้รถทั้งสองเฉี่ยวและชนกันขึ้น และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสถึงทุพพลภาพ และได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 16, 17, 33 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 ข้อ 3

จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 2 มีความผิดให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 9 เดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ขับรถอยู่ในทางของตน ไม่มีความผิดพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานขับรถยนต์ไม่มีใบอนุญาตกระทงเดียว ปรับ 100 บาท นอกนั้นยืนตามศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถกินทางเข้าไปในขอบทางด้านขวามือของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ลดความเร็วเมื่อรถจะสวนกัน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประมาทโดยแซงรถจักรยานและจักรยานยนต์ข้างหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ต้องวิ่งรถเลยกึ่งกลางถนนมาทั้ง 2 คันแล้ว เกิดชนกันขึ้น เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้ประมาทอย่างอื่น นอกจากเหตุประมาทเพราะแซงรถข้างหน้าจึงวิ่งผิดทางเป็นข้อสาระสำคัญของคดี เมื่อทั้งศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นไม่ฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า มีรถจักรยานและจักรยานยนต์อยู่ข้างหน้ารถของจำเลย ทั้งไม่ฟังว่าจำเลยขับรถเร็วเกินชั่วโมงละ 45 กิโลเมตรแล้ว ต้องถือว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้องและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงไม่มีทางลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ใจความสำคัญของฟ้องอยู่ที่ว่าจำเลยขับรถกินเกินทางของจำเลยเข้าไปทางขวามือที่เรียกกันว่าขับรถผิดทาง อันเป็นเหตุแห่งความผิด การแซงรถเป็นแต่เพียงเหตุที่ทำให้ต้องขับรถกินทางไปทางขวาถ้าแซงรถแต่ไม่ถึงกับกินทางไปทางขวาจนเกินทางของตัวคือแซงแล้วรถก็ยังคงอยู่ในทางที่มา หากเกิดชนกันกับรถที่สวนทางก็เป็นเพราะรถที่สวนขับกินขวาเกินทางเข้ามา ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของฟ้องว่าประมาทและเป็นต้นเหตุใกล้ชิดของการที่รถชนกันขึ้นอยู่ที่ขับรถกินทางไปทางขวาจนเกินทางของตน มิใช่การแซงรถเมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถกินทางไปทางขวาเกินกว่ากึ่งกลางถนนไปชนรถจำเลยที่ 1 ที่ขับสวนมา แม้จะไม่มีการแซงรถก็ตรงกับฟ้องและความประสงค์ให้ลงโทษแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลจึงขับรถบรรทุกหินคันนั้นได้ ถ้าไม่ใช่รถบรรทุกรับจ้างอันเป็นรถยนต์สาธารณะนั้น ศาลเห็นว่ารถยนต์บรรทุกของถ้าไม่รับจ้างบรรทุกก็เป็นรถบรรทุกของส่วนบุคคลไม่ใช่รถยนต์สาธารณะ จำเลยที่ 2 มีใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ขับรถดังกล่าวนี้ได้ ไม่มีความผิด ในฟ้องโจทก์กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกหิน ไม่ได้บอกว่าเป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกหินหรือเป็นรถยนต์สาธารณะ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นรถสาธารณะโดยไม่มีพยานหลักฐานจึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงเกินหรือนอกเหนือกว่าพยานหลักฐานในท้องสำนวน

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทน่าหวาดเสียว อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน กินทางเลยกึ่งกลางถนนไปทางขวาเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และรับอันตรายแก่กาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390แต่กระทงเดียว ให้ลงโทษตามมาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เก้าเดือน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 คงยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาโจทก์

Share