คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2299/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ผู้ควบคุมเรือลูกจ้างบริษัทกระทำละเมิด เจ้าของเรือต้องรับผิดตาม พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 101,305 ก็ตามแต่ตัวแทนของเจ้าของเรือ ซึ่งอยู่ในประเทศไทยไม่ต้องรับผิดในละเมิดแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศมาตรา 824 ใช้เฉพาะกรณีสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าบริษัทเซนต์ไอโอนนิสชิปปิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นนายจ้างของนายซาเวียราส ผู้ควบคุมเรือฟรอสโซเค ผู้ทำละเมิด และบริษัทเวสต์ ออฟ อิงแลนด์ ซิพโอนเนอร์ มิวจวล อินชัวรันซ์แอสโซซิเอชั่น (ลอนดอน) จำกัด ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แต่เนื่องจากนิติบุคคลผู้จะต้องรับผิดดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของนิติบุคคลดังกล่าวในประเทศไทยนั้น เห็นว่า ตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเป็นเรื่องนายซาเวียราสผู้ควบคุมเรือซึ่ง เป็นลูกจ้างของตัวการ (บริษัทเซนต์ไอโอนนิส ชิปปิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด)กระทำละเมิด แม้นายเรือ (นายซาเวียราส) และเจ้าของเรือ (ตัวการ) ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ 2456 มาตรา 103 และมาตรา 305ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยนั้นไม่ต้องรับผิดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะความรับผิดในคดีนี้เป็นผลอันเกิดจากการกระทำละเมิด มิใช่เกิดจากสัญญาจำเลยทั้ง 2 ซึ่งเป็นตัวแทนและมิได้มีส่วนกระทำละเมิดจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าตัวการจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศก็ตาม”

พิพากษายืน

Share