คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 นั้น มีขอบเขตของการควบคุมเพื่อตรวจตราดูแลให้บริษัทเงินทุนได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงการคลัง ไม่มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินงานหรือกระทำการช่วยเหลือชี้ช่องในการบริหารงาน ให้แก่คณะกรรมการของบริษัทเงินทุนการกระทำของบริษัทเงินทุน เช่นการเพิ่มทุนก็ดี ราคาหุ้นของบริษัทสูงมากอย่างรวดเร็วก็ดี ให้กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันก็ดี หรือหนี้สูญจำนวนมากก็ดี จึงทำให้ ฐานะของบริษัทเงินทุนทรุดหนักจนไม่อาจแก้ไขได้นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือสมยอมให้บริษัทกระทำการดังกล่าวหรือ ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดความเสียหาย ของโจทก์ที่เป็นลูกค้าที่ฝากเงินไว้กับบริษัทหากจะมีก็เกิดจาก การกระทำของบริษัทเงินทุน มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสอง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด
การที่ศาลชั้นต้นตรวจพิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดจึงมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับนั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ตาม มาตรา 151

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ที่ 1 ถึง 14, 18 ถึง 22 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีได้ความตามคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนได้ฝากเงินโดยวิธีการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วแลกเงินไว้กับบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ต่อมาบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงานจนในที่สุดถูกจำเลยทั้งสองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนไม่สามารถเรียกเงินฝากและดอกเบี้ยจากบริษัทราชาเงินทุน จำกัดได้ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนถือว่าความล้มเหลวในการดำเนินงานธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เกิดจากจำเลยทั้งสองจงใจและประมาทเลินเล่อ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนเสียหาย ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทราชาเงินทุน จำกัดอย่างใด เพียงใด พิเคราะห์แล้วประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ 1 มีอำนาจและหน้าที่ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวได้ และเมื่อมีการมอบหมายแล้วให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติกิจการตามที่จำเลยที่ 2ได้รับมอบหมาย ส่วนการอนุญาตให้ผู้ใดประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชนไว้ด้วยก็ได้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวเห็นได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 มิได้กำหนดและระบุอย่างแจ้งชัดถึงหน้าที่ของจำเลยทั้งสองว่ามีอยู่อย่างใด เพียงใด คงกำหนดเรื่องการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์และเรื่องกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชน ส่วนเงื่อนไขจะมีอย่างใดนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะได้กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการประกอบกิจการตามเจตนารมณ์แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ดังประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 19 กันยายน 2515กำหนดวิธีการจัดตั้งและการขอรับอนุญาต กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินงานที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องกระทำหรือจะกระทำมิได้หลายประการ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ดำเนินงานไปโดยถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยที่ 2เห็นว่าผู้ประกอบกิจการใดมีฐานะการเงินอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน อาจสั่งให้แก้ไขโดยวางมาตรฐานของฐานะการเงินไว้และให้ผู้ประกอบกิจการนั้นดำเนินการให้ฐานะการเงินของตนเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด หากปรากฏว่าผู้ประกอบกิจการใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ก็ย่อมมีความผิดและถูกดำเนินคดีต่อไป ดังนั้นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงมีขอบเขตของการควบคุมเพื่อตรวจตราดูแลให้บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง มิได้หมายความให้มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินงานหรือกระทำการใกล้ชิดหรือช่วยเหลือชี้ช่องในการบริหารงานให้แก่คณะกรรมการของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทดังกล่าวมีประสิทธิภาพดีหรือมีการวินิจฉัยไม่ผิดพลาด อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด และเกินเลยไปจากหน้าที่ตามกฎหมาย การกระทำต่าง ๆ ของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องเช่นการเพิ่มทุนก็ดีราคาหุ้นของบริษัทมีราคาสูงมากอย่างรวดเร็วก็ดี การให้กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันก็ดี หรือหนี้สูญเป็นจำนวนมากก็ดี ซึ่งทำให้ฐานะการเงินของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด ทรุดหนักไม่อาจแก้ไขได้นั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือสมยอมให้ความสนับสนุนแก่บริษัทราชาเงินทุน จำกัด และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนต้องเสียหายความเสียหายของโจทก์หากจะมีก็เกิดจากการกระทำของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดฐานะละเมิดต่อโจทก์ในข้อนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่าที่จำเลยที่ 2 ออกข่าวธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 65 และจำเลยทั้งสองยอมให้สมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ออกข่าวตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 66 ว่าบริษัทราชาเงินทุนเป็นแต่เพียงขาดเงินทุนหมุนเวียนอยู่บ้าง บริษัทมีทรัพย์สินเพียงพอที่ใช้เป็นหลักประกันหนี้สิน สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อชำระคืนให้แก่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินได้ อันเป็นการกล่าวเท็จและจงใจออกข่าวปกปิดความจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างร้ายแรงอีกประการหนึ่งซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามเอกสารท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 61 เรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ในหัวข้อการแก้ปัญหาในระยะเริ่มแรก ข้อ 4.5 ปรากฏว่าเมื่อเกิดวิกฤติกาลทางการเงินขึ้นกับบริษัทราชาเงินทุน จำกัด แล้ว นายเสรี ทรัพย์เจริญประธานกรรมการของบริษัทได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งพยายามที่จะเข้าช่วยเหลือเพื่อที่จะให้บริษัทราชาเงินทุน จำกัดสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เพราะบรรดาบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์โดยทั่วไปเห็นว่าหากปล่อยให้บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ต้องล้มเลิกกิจการไปแล้วก็จะเกิดผลกระทบกระเทือนแก่ระบบการเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์อย่างรุนแรง สมาชิกของสมาคมจำนวนหนึ่งได้พบปะหารือกันหาวิธีการและมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้าช่วยเหลือตลอดระยะเวลาต้นเดือน พฤษภาคม 2522 ในบางคราวประธานกรรมการของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ก็เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลฎีกาเห็นว่าสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์รวมทั้งสมาชิกของ สมาคมได้พบปะหารือเพื่อพยายามหาวิธีการและมาตรการที่จะเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ดังนั้นการออกข่าวของจำเลยที่ 2 และของสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และ 66 ลงวันที่ 2และ 3 พฤษภาคม 2522 ตามลำดับ จึงเป็นการแถลงข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของความพยายามที่สมาคมและสมาชิกของสมาคมดังกล่าวจะหาวิธีการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัดตามความจริงที่เป็นอยู่มีอยู่ในช่วงของการแก้ปัญหาระยะเริ่มแรกตอนต้นเดือนพฤษภาคม 2522 หาใช่เป็นการออกข่าวเท็จเพื่อช่วยปกปิดฐานะการเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนตามฟ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งรับฟ้องเพียงแต่มีคำสั่งยกฟ้องซึ่งเท่ากับไม่รับฟ้อง ยังมิได้มีการพิจารณาคดีหรือชี้ขาดตัดสินคดีศาลชั้นต้นจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ โจทก์แต่ละคนเรียกร้องอันเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นตรวจพิเคราะห์คำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ได้ มีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับดังนี้เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือให้คืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีเหตุจะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับจึงชอบแล้ว ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์แยกเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องนั้น เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์แต่ละคนนำค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ตนเรียกร้องมาชำระต่อศาลภายใน 15 วันนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อโจทก์ทั้งสิบเจ็ดคนยื่นคำแถลงขอชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่โดยดีมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งนั้นไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share