คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้แก่องค์การคลังสินค้า จัดทำผ่านกรรมวิธีมาแล้วหลายขั้นตอนจนสามารถชงดื่มได้ ถือได้ว่าใบชาและชาผงดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ชงดื่มตามบัญชี 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2516 แม้ใบชาและชาผงของบริษัทโจทก์จะไม่เป็นที่นิยม เพราะไม่ได้ปรุงแต่รสกลิ่นและความสะอาดไม่ดีนัก ก็ไม่ทำให้ใบชาและชาผงนั้นไม่เป็นปลิตภัณฑ์ชงดื่มส่วนที่พ่อค้าซื้อใบชาและชาผงของบริษัท โจทก์ไปจากองค์การคลังสินค้าแล้วนำไปผ่านกรรมวิธีอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ พ่อค้าประสงค์จะให้ใบชาและชาผงนั้นมีคุณภาพและรสดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเท่านั้น
การขนส่งใบชาและชาผงจากโรงงานของบริษัทโจทก์ที่เชียงใหม่ ถึงองค์การ คลังสินค้าที่กรุงเทพใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน แต่ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้องค์การคลังสินค้าสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นแรมปี เห็นได้ว่าบริษัทโจทก์ประสงค์จะให้ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตโดยผ่านกรรมวิธีดังกล่าวนั้นมีสภาพคงอยู่ถาวรเพื่อมิให้เสียง่าย มิใช่จัดทำเพียงเพื่อรักษามิให้ใบชาและชาผงเสียเป็นการชั่วคราวระหว่างขนส่งใบชาและชาผง ที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้องค์การคลังสินค้าจึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ทวิ(2)(ด)แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 มาตรา 4 แต่ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ ประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(3) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ใบชาที่โจทก์จำหน่ายเป็นใบชาที่เก็บจากต้นชาโดยตรงและนำมาผ่านกรรมวิธีเบื้องต้น เพื่อมิให้เน่าเปื่อยเท่านั้น จึงควรได้รับยกเว้นภาษีตาม มาตรา 78 ทวิ(2)(ด) แห่งประมวลรัษฎกร และใบชาดังกล่าวยังไม่สามารถชงดื่มได้ จึงมิใช่ผลิตภัณ์ชงดื่ม ส่วนชาผงก็เช่นเดียวกัน ต้องเอาไปผสมสีและเติมหัวเชื้อของกลิ่นเพื่อให้เกิดรสชาติขึ้น จึงควรเสียภาษีเพียงร้อยละ 1.5 แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิ จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

จำเลยทั้งห้าให้การว่า ใบชาและชาผงที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ชงดื่มต้องเสียภาษีร้อยละ 7 ของรายรับ ไม่เข้าลักษณะได้รับยกเว้นตามมาตรา 78 ทวิ(2)(ด)

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในปัญหาที่ว่าใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้แก่องค์การคลังสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ชงดื่มตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3)ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นและลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2516 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้แก่องค์การคลังสินค้าจัดทำผ่านกรรมวิธีมาแล้วหลายขั้นตอนจนสามารถใช้ชงดื่มได้ จึงถือได้ว่าใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้องค์การคลังสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ชงดื่มตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แม้ใบชาและชาผงของบริษัทโจทก์จะไม่เป็นที่นิยมเพราะไม่ได้ปรุงแต่งรสและกลิ่น และความสะอาดไม่ดีนักก็ไม่ทำให้ใบชาและชาผงของบริษัทโจทก์ไม่เป็นผลิตภัณฑ์ชงดื่มส่วนการที่พ่อค้าที่ซื้อใบชาและชาผงของบริษัทโจทก์ไปจากองค์การคลังสินค้าแล้วนำใบชาและชาผงนั้นไปผ่านกรรมวิธีอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่พ่อค้าประสงค์จะให้ใบชา และชาผงนั้นมีคุณภาพและรสดีเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเท่านั้น สำหรับปัญหาต่อไปว่า โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ทวิ (2)(ด) หรือไม่นั้นเห็นว่า การขนส่งใบชาและชาผงจากโรงงานของบริษัทโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงองค์การคลังสินค้าที่กรุงเทพมหานครใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน แต่ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้องค์การคลังสินค้าสามารถเก็บไว้นานเป็นแรมปี จึงเห็นได้ว่าใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตโดยผ่านกรรมวิธีดังกล่าว บริษัทโจทก์ประสงค์จะให้ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตมีสภาพคงอยู่อย่างถาวรเพื่อไม่ให้เสียง่าย มิใช่จัดทำเพียงเพื่อรักษามิให้ใบชาและชาผงเสียเป็นการชั่วคราวระหว่างขนส่ง ใบชาและชาผงที่บริษัทโจทก์ผลิตแล้วขายให้องค์การคลังสินค้า จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ทวิ(2)(ด) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 มาตรา 4 แต่จะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษระ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share