คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2679/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่ายเป็นความผิดตามบทเฉพาะในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แล้วไม่ต้องปรับบทลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองตาม มาตรา 67 อีก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102, 103 ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก 5 ปี และฐานมีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปีรวมจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามจำคุก 13 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 102, 103 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม จำคุก 1 ปี 4 เดือน ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 เวลาประมาณ11 นาฬิกา นายณรงค์ ชื่นชูชม และพลตำรวจธีระ ฉัตรเฉลิมกิจไปซื้อเฮโรอีนจากเด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ น้องภรรยาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 หลอด ราคา 20 บาท พลตำรวจธีระจึงยึดเฮโรอีนที่ซื้อและเฮโรอีนจำนวน 48 หลอดจากกล่องยาอมของเด็กหญิงสถาพรกับธนบัตรฉบับละ10 บาท รวม 2 ฉบับที่ใช้ซื้อเฮโรอีนจากเด็กหญิงสถาพร นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจยังค้นได้เฮโรอีนจำนวน 20 หลอดใต้ที่นอน และเฮโรอีนหลอดใหญ่จำนวน 1 หลอดกับเข็มฉีดยา 1 ชุดอยู่ในตะกร้าใส่เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยที่ 1 โจทก์นำสืบกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางดังกล่าวไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีน จำเลยที่ 1นำสืบต่อสู้ว่า นายตี๋เล็กเอาเฮโรอีนของกลางมาให้เด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ขายโดยให้ค่าจ้างขายวันละ 30 บาท เด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ นำเอาเฮโรอีนบางส่วนไปซ่อนไว้ใต้ที่นอนและในตะกร้าในห้องนอนของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นด้วยกับเด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ ในการมีไว้เพื่อจำหน่ายเฮโรอีนของกลาง ปัญหาชั้นฎีกาที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น ได้ความจากคำของนายณรงค์ ชื่นชูชม พยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน พยานไปถามซื้อเฮโรอีนจากเด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ซื้อไม่ได้เพราะไม่ตกลงกันเรื่องราคา จึงไปซื้อที่อื่นครั้นวันเกิดเหตุพยานกับพลตำรวจธีระ ฉัตรเฉลิมกิจ รับมอบธนบัตร 2 ฉบับของกลางจากร้อยตำรวจเอกวิชัย เย็นสุดใจ ไปล่อซื้อเฮโรอีนจากเด็กหญิงสถาพรอีก ได้เฮโรอีน 1 หลอด ราคา 20 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายณรงค์รู้ว่าเด็กหญิงสถาพรขายเฮโรอีนแล้วไปถามซื้อโดยตรง และเด็กหญิงสถาพรก็ยอมขายให้โดยง่ายดายเช่นนี้ ย่อมแสดงว่า เด็กหญิงสถาพรขายเฮโรอีนมานานพอสมควรหาใช่เพิ่งจะขายดังจำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ และเมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับเด็กหญิงสถาพรซึ่งมีอายุเพียง 13 ปีโดยเป็นพี่เขยและน้องภรรยาอยู่ในบ้านเดียวกัน ย่อมเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การขายเฮโรอีนของเด็กหญิงสถาพรก็กระทำในบ้านของจำเลยที่ 1 โดยบรรจุเฮโรอีนใส่ไว้ในกล่องยาอม เพื่ออำพรางให้คนทั่วไปเข้าใจว่าในกล่องนั้นเป็นยาอม นอกจากนี้เฮโรอีนบางส่วนก็ค้นได้จากใต้ที่นอนของจำเลยที่ 1 และได้จากตะกร้าใส่เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยที่ 1ดังนี้จึงเป็นพฤติการณ์ที่ประกอบเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับเด็กหญิงสถาพร สุขศิลป์ มีเฮโรอีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนของกลางนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดดังโจทก์ฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นกับการกระทำของเด็กหญิงสถาพรนั้นรับฟังหักล้างพยานโจทก์ไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 มาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยมีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่ายตามมาตรา 66 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่ต้องปรับบทลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองตามมาตรา 67 อีก

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102, 103 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share