คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1897/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภายหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วจำเลยจึงชำระเงินให้โจทก์ แต่ไม่ครบตามจำนวนเงินในเช็คพิพาท คดีจึงไม่เลิกกันตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 5 วรรคสาม และไม่เป็นผลที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามฟ้องได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3 จำคุก 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และ 188 ให้ลงโทษตามมาตรา 188 อันเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน 28,000 บาท ชำระหนี้ให้โจทก์ แต่โจทก์รับเงินตามเช็คไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องด้วยจำเลยไม่มีเงินพอจ่าย โจทก์ทวงถามเงินจากจำเลย จำเลยชำระให้ 12,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 16,000 บาท ต่อมาโจทก์ไปที่บ้านจำเลยเพื่อทวงถามเงินที่ยังค้างอยู่นี้ แล้วจำเลยได้หลอกลวงโจทก์ว่าจะชำระเงินที่ค้าง ขอดูเช็คพิพาท พอโจทก์ส่งให้จำเลยก็ฉีกทำลายเสีย จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้โจทก์แล้วบางส่วนคือ 12,000 บาท จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามที่โจทก์ฟ้องศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่จำเลยชำระเงินบางส่วนให้โจทก์ภายหลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเนื่องด้วยเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว เพราะความผิดของจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จริงอยู่แม้ตามมาตรา 5 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 3 ได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” แต่คดีนี้ก็ได้ความว่าจำเลยคงชำระเงินให้โจทก์เพียง 12,000 บาทเท่านั้น ไม่ครบตามจำนวนเงินในเช็คพิพาท คดีจึงไม่เลิกกันตามที่กฎหมายบังคับไว้และไม่เป็นผลที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามฟ้องของโจทก์ได้”

พิพากษายืน

Share