คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ไม่จำต้องเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ก็เป็นผู้เสียหายมีอำนาจ ฟ้องคดีได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทที่ศาลชั้นต้นวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่แก้กำหนดโทษ โจทก์จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา219

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334, 358, 84 ให้ลงโทษตาม มาตรา 334, 84 จำคุก 3 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีกำหนด 1 ปี ให้ยกฟ้องข้อหาบุกรุก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 334 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 363 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยตามโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6

โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อหาฐานลักทรัพย์อ้างว่า จำเลยใช้ผู้อื่นรื้อฝาและรั้วสังกะสีแบ่งแนวเขตโดยมีเจตนาลักทรัพย์และไม่สมควรใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกจำเลยนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของห้องเลขที่ 196,198 เป็นเพียงผู้ดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวให้นายหุ้ยเฮี้ยงน้องชายโจทก์และการที่บิดาจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างร่วมกับนายหุ้ยเฮี้ยงแต่ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกเป็นส่วนสัดกับโจทก์ซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายหุ้ยเฮี้ยงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ เห็นว่าผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ก็เป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีเมื่อห้องพิพาทจะเป็นของผู้ใดไม่ใช่ข้อสำคัญ และศาลล่างฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองดูแลห้องพิพาท การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องความผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ได้ หากจำเลยเห็นว่าบิดาจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ร่วมกับนายหุ้ยเฮี้ยง แต่ได้ตกลงแบ่งส่วนสัดกับโจทก์เป็นการไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับมรดกจากบิดา การที่จำเลยทราบแล้วว่าบิดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเดิมตกลงกับโจทก์แบ่งแยกที่ดินพร้อมทั้งห้องเลขที่ 196, 198 ในที่ดินให้เป็นส่วนสัดของนายหุ้ยเฮี้ยงมีโจทก์เป็นผู้ครอบครองดูแลอยู่ จำเลยไม่มีอำนาจเข้าไปทำลายทรัพย์และรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข”

พิพากษายืน

Share