คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8410/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 มาตรา 365(2)(3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2)(3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(8), 336 ทวิ, 80, 365, 33, 83 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80 มาตรา 365(2)(3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุกคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้โดยปรับบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3)ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และลดโทษลงเหลือจำคุกคนละ 2 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share