แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างที่จะได้รับยกเว้นให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (2) จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาด มิใช่เป็นแต่เพียงวิธีการจ่ายทางบัญชีและยังคงอยู่ในความควบคุมของโจทก์ โดยพนักงานเจ้าของเงินไม่มีสิทธิใช้เงินทุนในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพของตนเองเลยจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อออกจากงานแล้ว แต่โจทก์กลับมีสิทธิใช้โดยนำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นของธนาคารโจทก์ได้ จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 65 ตรี (2)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์เสียนั้นยังไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่โจทก์จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานของตนนั้นจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(2)แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความบางประการ ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาคดีตามประเด็นข้อพิพาทแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องให้คู่ความสืบพยานอีกต่อไปอันจะเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรและไม่จำเป็นแก่คดี และที่โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าต้องการสืบพยานถึงความเป็นมาของระเบียบการเงินทุนเลี้ยงชีพของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามเอกสารหมายเลข 5 ท้ายฟ้อง และขอสืบถึงวิธีปฏิบัติตามข้อตกลงตามเอกสารหมาย 6 ท้ายฟ้องนั้น ก็จำเป็นแก่คดีไม่ เพราะหนังสือทั้งสองฉบับนั้นโจทก์ก็ได้แนบมาท้ายฟ้อง ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องโจทก์ซึ่งศาลสามารถตรวจดูได้โดยง่ายแม้จะให้โจทก์นำสืบถึงความเป็นและวิธีปฏิบัติตามเอกสารทั้งสองฉบับนั้น ก็หาเป็นผลให้ข้อเท็จจริงซึ่งตราเป็นระเบียบข้อตกลงไว้ตามเอกสารทั้งสองฉบับเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเสียนั้นถูกต้องชอบแล้ว
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า เงินทุนเลี้ยงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานนั้นถือได้ว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(2)แห่งประมวลรัษฎากร พิเคราะห์แล้ว ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลยและคำแถลงรับของคู่ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2524 ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เงินทุนเลี้ยงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานตามระเบียบการเงินทุนเลี้ยงชีพของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(ฉบับแก้ไขใหม่) พ.ศ. 2507 ท้ายฟ้องนั้น โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือน เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่พนักงานผู้นั้นได้รับ โดยขึ้นบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในนามของพนักงานผู้นั้น แล้วพนักงานกับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้ทำหนังสือสัญญาตกลงกันไว้ให้โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงเงินในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพไว้เป็นประกันการทำงานของพนักงานผู้นั้น และโจทก์มีสิทธินำเงินดังกล่าวหักชำระหนี้สินหรือชดใช้ค่าเสียหายที่พนักงานผู้นั้นก่อให้เกิดขึ้นกับโจทก์ได้นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปซื้อหรือขายหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัดในนามของพนักงานได้ แล้วโจทก์มีสิทธิยึดใบหุ้นนั้นไว้เป็นประกันเช่นเดียวกับเงินในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพ หากพนักงานมีความจำเป็นในการสร้างบ้านอยู่อาศัยก็มีสิทธิกู้เงินจากโจทก์ได้โดยนำเงินทุนในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นหลักประกันให้ไว้แก่โจทก์ และตามทางปฏิบัติไม่เคยปรากฏว่ามีพนักงานผู้ใดถอนบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพได้ก่อนออกจากงานเลย พิเคราะห์แล้วสำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะยืนยันว่าได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานไปแล้วศาลฎีกาเห็นว่าเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างที่จะได้รับยกเว้นให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 65 ตรี(2) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาด ซึ่งหมายความว่ารายจ่ายของโจทก์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปแล้วจะต้องเป็นการจ่ายไปเป็นเด็ดขาด มิใช่เป็นแต่เพียงวิธีการจ่ายทางการบัญชีและยังคงอยู่ในความควบคุมของโจทก์ แต่ในคดีนี้ปรากฏว่าพนักงานเจ้าของเงินไม่มีสิทธิใช้เงินทุนในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพของตนเองเลยแต่โจทก์กลับมีสิทธิใช้โดยนำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นของธนาคารโจทก์ได้จึงเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์มิได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานเป็นการเด็ดขาดไป เพราะแม้พนักงานผู้ใดจะยากจนลงหรือมีความจำเป็นมากมายประการใดก็ไม่มีสิทธิจะนำเงินของตนในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพมาใช้จ่ายบำบัดความเดือดร้อนได้ ดังนี้จะเรียกได้หรือว่าโจทก์ได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างของตนไปโดยเด็ดขาดแล้ว พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์แม้จริงก็ต่อเมื่อออกจากงานไปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานไปในคดีนี้ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(2) คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนจำเลยด้วย